X

‘คุรุจิต’ แย้ง คุมค่าการกลั่นน้ำมัน อาจกระทบความมั่นคงพลังงาน-ระบบ ศก.

กรุงเทพฯ – ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมไทย เตือนให้รอบคอบ ก่อนรัฐออกมาตรการคุมเพดานค่าการกลั่นน้ำมัน ชี้ ส่งสัญญาณผิด จะกระทบความมั่นคงด้านพลังงาน ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เผยแพร่บทความ ‘ค่าการกลั่นน้ำมัน! จะให้ถูกใจ หรือถูกต้องดี?’ ส่งสัญญาณเตือนก่อนที่จะออกมาตรการใด ๆ เกี่ยวกับค่าการกลั่นน้ำมัน ดังนี้

ช่วงสองสัปดาห์มานี้ โหงวเฮ้ง (หรือนรลักษณ์พยากรณ์) ของผู้บริหารบริษัทโรงกลั่นน้ำมันในไทยทั้งหกโรง อันได้แก่ Thai Oil, GC, BCP, IRPC, Esso และ SPRC ดูออกจะไม่มีออร่าแจ่มใส สวนทางกับราคาน้ำมันขาขึ้นจากวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนในยุโรปที่น่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ แต่เหตุที่ไม่เบิกบานนักก็เพราะโรงกลั่นในไทยกำลังจะถูกกล่าวหาจากคนที่มีดีกรีเคยเป็นถึงอดีตขุนคลังของรัฐบาลในอดีตสองคนว่า เป็นโจรปล้นประชาชน หรือเอาเปรียบผู้บริโภคบ้างล่ะ

โดยยกอ้างถึงตัวชี้วัด ‘ค่าการกลั่น Gross Refinery Margin (GRM)’ ด้วยการวิเคราะห์ของตนว่ามีค่าสูงมากเกินปกติ ดังนั้น จึงไปอนุมานว่าบริษัทโรงกลั่นน้ำมันทั้งหกโรงเหล่านี้ต้องมีกำไร “ส้มหล่น” อย่างมหาศาล เกิดเป็นกระแสให้รัฐเข้ามาจัดการควบคุมเพดานค่าการกลั่น GRM พร้อมทั้งมีข่าวว่าจะขอร้องแกมบังคับให้โรงกลั่นให้ความร่วมมือ “บริจาค” เงินก้อนมาให้รัฐนำไปใช้พยุงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป หลังจากที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำลังจะหมดความสามารถที่จะนำไปใช้พยุงราคาน้ำมันได้อีกต่อไป เนื่องจากใช้ไปจนหมดหน้าตัก จนมีภาระเป็นหนี้จะเหยียบหนึ่งแสนล้านบาทภายในสิ้นเดือนนี้อยู่แล้ว

มีการยกเอาสถิติตัวเลขส่วนต่าง (crack spread) ระหว่างราคาน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบในตลาดสิงคโปร์มาเปรียบเทียบย้อนหลังไปในปี 2563 เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือด้วยว่าโรงกลั่นกำลังฟันกำไรบนความทุกข์ของประชาชน! กระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการฯ ตกเป็นเป้าโจมตีเช่นเคยว่าไม่ทำอะไรเลย ตามด้วยการกล่าวสบประมาทว่าเป็นเพราะรัฐมนตรีฯ เกรงใจเพื่อนเพราะตนเคยทำธุรกิจนี้มาก่อน ส่วนข้าราชการก็ถูกข้อหาเดิมว่าไปนั่งอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ต้องมีประโยชน์ทับซ้อนแน่เลย ถึงไม่กล้าสั่งโรงกลั่นให้ลดราคา

ผมติดตามข่าวสารในสื่อมวลชนกระแสหลัก ก็พบว่าสื่อมวลชนและประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้าใจและยอมรับในระดับหนึ่งว่าราคาหน้าปั๊มที่แพงขึ้นในช่วงสามสี่เดือนกว่ามานี้เพราะต้นทุนเนื้อน้ำมันในตลาดโลก (ทั้งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่กลั่นแล้ว) มีราคาแพงขึ้น อันมีเหตุปัจจัยแวดล้อมหลายเรื่องมาประจวบกัน ผู้ค้าและปั๊มน้ำมันไม่สามารถตั้งราคาเองโดยไม่คำนึงถึงกลไกตลาดและต้นทุนได้ และรัฐบาลก็ได้พยายามหลายวิธีด้วยกลไกหลาย ๆ อย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ มาอุดหนุนราคาขายปลีก (โดยเฉพาะดีเซล)

การลดภาษีสรรพสามิตลงกว่า 5 บาทต่อลิตร การลดส่วนผสมของไบโอดีเซล B100 ในน้ำมันดีเซลจาก 7%, 10% และ 20% ให้เหลือเป็น B5 (5%) เท่านั้น การค่อยๆ ขยับเพดานการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล เป็น 35 บาท/ลิตร และก๊าซหุงต้ม LPG เป็น 363 บาทต่อถัง 15 กก. และใช้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วยสนับสนุนลดค่าครองชีพด้านพลังงานให้แก่ผู้มีรายได้น้อย วินมอเตอร์ไซด์ รถ Taxi หาบเร่แผงลอย และครัวเรือนผู้ที่ใช้ไฟฟ้าน้อย เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมาจนถึงเมื่อวันศุกร์ที่ 17/6/65 สำหรับดีเซลปรับขึ้น 17% (ขณะที่ในตลาดสิงคโปร์ปรับขึ้น 84%) ส่วนแก๊สโซฮอล 95 ก็ปรับราคาขึ้น 38% (ขณะที่ ULG 95 สิงคโปร์ปรับขึ้นในช่วงเดียวกัน 61% ซึ่งราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่น (ex-refinery prices) ของไทยก็ปรับตัวขึ้นใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ด้วย ดังนั้น พอมีประเด็นเรื่องค่าการกลั่นเข้ามา หลายคนก็เลยสงสัยอยากรู้ว่า เอ๊ะมันจริงหรือเปล่า ที่โรงกลั่นมีกำไรมหาศาลจากส่วนต่างของค่าการกลั่นนี้
และเรา (รัฐ) ควรจะเข้าไปทำอะไรมากกว่านี้เพื่อช่วยประชาชนเพิ่มเติมอีกได้ไหม? ถูกใจ โดยการคุมเพดานการกลั่น หรือขอแบ่งเงินจากกำไร “ส้มหล่น” ของโรงกลั่น มาช่วยพยุงราคาน้ำมันในประเทศ จะดีหรือ?

ผมคิดว่า เราควรจะไตร่ตรองให้รอบคอบและคิดถึงผลกระทบทั้งในระยะยาวและระยะสั้นต่อระบบเศรษฐกิจของไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก่อนที่จะออกมาตรการใด ๆ ออกมา รวมทั้งควรมองไปถึงตอนจบด้วยว่า มาตรการที่จะนำมาใช้จะยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมจริงหรือเปล่า? ไม่ใช่แก้แบบเสี่ยงโชคยื้อเวลาโดยหวังอีกประเดี๋ยวนึงวิกฤติก็จะหายไป แล้วราคาในตลาดโลกคงจะลดลงมาเอง และไม่ควรแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งให้คนรุ่นหลังหรือรัฐบาลข้างหน้ารับไปแก้กันเอาเอง

ในประการแรก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ค่าการกลั่น (GRM) มิใช่กำไรแท้จริงที่โรงกลั่นได้รับ และจะดูค่า GRM ควรจะต้องพิจารณาจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคา ของทุกผลิตภัณฑ์ที่กลั่นออกมาจากหอกลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบชนิดที่แต่ละโรงกลั่นเขาสั่งซื้อเข้ามากลั่นจริง (หรือที่เรียกว่า crack spreads) และดู loss ในกระบวนการผลิตด้วย ไม่ใช่เอาส่วนต่างเฉพาะของราคาน้ำมันดีเซล (ซึ่งมักจะแพงที่สุด) ไปลบด้วยราคาน้ำมันดิบดูไบ (ซึ่งมักจะถูกที่สุด) แล้วไปสรุปเลยว่าเขาต้องมีกำไรมหาศาล เปรียบเสมือนโรงสีข้าว รับซื้อข้าวเปลือกมาสี สีข้าวแล้วได้ผลิตภัณฑ์ต่างชนิดที่ขายได้ในราคาต่างกัน เช่น แกลบ รำข้าว ปลายข้าว ข้าวหัก มิใช่มีแต่ข้าวสาร 5% หรือมีแต่ข้าวหอมมะลิอย่างเดียว เป็นต้น GRM จึงเป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดว่าโรงกลั่นมีประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับโรงกลั่นอื่น ๆ ในภูมิภาคแล้วเป็นอย่างไร เพื่อพัฒนาปรับปรุงลดต้นทุน ให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศอื่น ๆ GRM จึงแสดงความสามารถของโรงกลั่นในการทำกำไรและแข่งขันในตลาดค้าส่งน้ำมันที่เป็นตลาดเสรี มิได้แปลว่า GRM มีค่าสูงแล้วจะมีกำไรดีเสมอไป

ประการที่สอง โรงกลั่นแต่ละโรงมีโครงสร้างการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นค่าซื้อน้ำมันดิบมากลั่นที่แต่ละโรงซื้อมาในเวลาที่ต่างกันและคุณภาพของชนิดน้ำมันดิบที่ซื้อก็อาจแตกต่างกันด้วย ค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ค่าบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากราคาขึ้นหรือลงของสต๊อกน้ำมัน cost structures จึงไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การจะไปคุมราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแต่ละโรงแบบจะใช้ระบบ cost plus จึงไม่อาจทำได้และไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน รวมถึงการจะประกาศควบคุมราคาอย่างที่อดีตขุนคลังบางคนแนะนำ รัฐก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในขณะนี้ที่จะไปคุมราคาขายส่งหรือขายปลีกน้ำมันด้วย

หากทำไปก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้ธุรกิจเขาอาจทบทวนลดการสั่งน้ำมันดิบเข้ามาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ประเทศก็จะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และก็คงไม่ต่างอะไรกับที่รัฐบาลที่ประชานิยมสุดขั้ว หรือต่อต้านระบบค้าเสรีอย่างเวเนซุเอลาหรือโบลิเวียหรืออิหร่าน เคยทำมาแล้วก็ล้มเหลว นำไปสู่ภาวะขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานและบริการ ประชาชนอดอยากจากภาวะเงินเฟ้อที่ไม่อาจควบคุมได้

รัฐบาลทุกยุคสมัยที่ผ่านมาตลอดสามสิบปี ได้ตัดสินใจนำกลไกตลาดและการค้าเสรีมาใช้โดยลอยตัวราคาน้ำมันในประเทศ รัฐจะเข้าไปแทรกแซงก็แต่ในขอบเขตที่จำกัด ในการเรียกเก็บเงินเข้าหรือจ่ายเงินชดเชยจากกองทุน ตาม พ.ร.บ.กองุทนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เท่านั้น รัฐจึงไม่ควรย้อนกลับถอยหลังไปสู่ระบบ ที่จะทำให้การจัดหาและค้าน้ำมันมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การส่งสัญญาณที่ผิดจะทำให้ภาคธุรกิจต้องทบทวนความเสี่ยง optimize products and crude runs สั่งน้ำมันดิบเข้ามากลั่นน้อยลง หรือกลั่นแต่ส่งออกมากขึ้น หรือปรับกระบวนการผลิตให้ผลิตสินค้าอื่น เช่น ปิโตรเคมีมากขึ้น แทนที่จะผลิตออกมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการจัดหาในประเทศ

ประการที่สาม โรงกลั่นทั้งหกโรงในประเทศไทย เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเปิดเผยงบการเงิน งบกำไรขาดทุนจากผลประกอบการเป็นรายปีและรายไตรมาส ตามกฎกติกาอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เสียภาษีทุกประเภทเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษี VAT ภาษีสรรพสามิต และภาษีที่ดิน ธุรกิจของแต่ละรายมิได้จำกัดอยู่แต่การนำเข้าหรือกลั่นอย่างเดียว กำไรของเขาจึงไม่ใช่มาจากเฉพาะการกลั่นเท่านั้น แต่ละโรงอาจมีการลงทุนขยายงานหรือปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมกัน เช่น ลงทุนติดอุปกรณ์คุมมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน Euro 5 ตามนโยบายรัฐ เป็นต้น

การจะไปขอให้แต่ละโรงเขาจัดสรรเงินก้อนแบ่งกำไรมาให้รัฐ โดยจะใช้ตัวชี้วัด GRM เป็นตัวกำหนดแบบไม่แน่นอน (arbitrary) ผู้บริหารเขาคงต้องคิดหนักเพราะอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายและพันธกรณีใดๆ และจะต้องนำไปขอรับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทด้วย ซึ่งคณะกรรมการของบริษัทฯ ก็พึงมีหน้าที่ตัดสินใจโดยชอบบนหลัก Fiduciary Duty ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หากคณะกรรมการบริษัทมหาชนใช้ดุลพินิจโดยมิได้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ยึดถือประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้งจนเกิดความเสียหายธุรกิจ ก็อาจถูกผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่หรือรายย่อยฟ้องร้องเอาได้

ประการที่สี่ (ต่อเนื่องจากประการที่สาม) กำไรสุทธิของโรงกลั่นที่เป็นบมจ. จะรู้แน่ว่ามีกำไรหรือขาดทุนก็ต้องรอให้ครบ 12 เดือนของปีปฏิทินเสียก่อน การใช้ตัวเลข GRM เพียงแค่สองสามเดือนที่ผ่านมาแล้วสรุปว่าโรงกลั่นมีกำไรมหาศาล หากในอีกหกเดือนหลังของปี 2565 นี้ราคาน้ำมันร่วงลงมา ค่า crack spreads ของดีเซลและเบนซินตกลงมาเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกหรือมีโรคระบาดใหม่เกิดขึ้นทำให้ต้องเกิดการ Lockdown รอบใหม่ โรงกลั่นกลายเป็นขาดทุนในรอบครึ่งปีหลัง เขาจะไปเรียกร้องขอเงินส้มหล่นนี้คืนจากรัฐได้ไหม

ทุกวันนี้ เพียงแค่มีข่าวว่ารัฐจะควบคุมราคา หรือกำหนดเพดานค่าการกลั่น หรือโรงกลั่นอาจต้องให้ความร่วมมือ ‘บริจาค’ เงินก้อนให้รัฐไปพยุงราคาน้ำมัน บรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ก็ต่างส่งสัญญาณ Sell ทำให้หุ้นของโรงกลั่นทั้งหกโรงในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาตกยกแผง market cap ลดวูบ บรรดากองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพบำเหน็จบำนาญ หรือประกันสังคมทั้งหลาย หรือกองทุนการออมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น RMF, LTF หรือ SSF ที่เคยถือหุ้นโรงกลั่นอันจัดเป็นหุ้นพื้นฐานดีบน SET100 ต่างกลายเป็นมีมูลค่าสุทธิลดลง เพราะนักลงทุนเทขาย จากความหวั่นไหวไม่เชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจเสรี อาจกระทบต่อดัชนีจัดอันดับความชื่อถือ ratings ของบริษัทฯ ได้

นอกจากนี้ ในระยะยาว การที่รัฐจะไปเชิญนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศมาลงทุนในโครงการ mega projects ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็อาจจะยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติก็คงถามหาสิทธิภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนที่ไทยมีกับนานาประเทศ ว่าเขาจะคงได้รับความคุ้มครองจากการเวนคืน และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมอยู่หรือไม่

Stay the course ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน แต่รัฐมุ่งสร้าง safety net ให้สังคม กับใช้กลไกภาษีเข้าช่วย จะถูกต้องกว่าในปี 2563 ที่เริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ตกต่ำมาก บางช่วงราคาเป็นศูนย์หรือติดลบเพราะไม่มีถังให้เก็บน้ำมันที่มีการซื้อขายล่วงหน้าใน forward market ค่า GRM ของปีนั้นลดลงต่ำมากจนไม่ควรถือเป็นค่ามาตรฐานเปรียบเทียบ กิจการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นทั้งหกโรงต่างขาดทุนกันหมด ไม่มีใครไปช่วยเขา เพราะเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต้องยอมรับ ปี 2565 ตั้งแต่มีนาคม-พฤษภาคม มีเหตุการณ์ผิดปกติอันเนื่องมาจากสงครามในยุโรป การแซงค์ชั่นสินค้าพลังงานได้แก่น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียโดยอเมริกาและกลุ่ม EU ทำให้เกิดเป็นวิกฤติราคาพลังงานไปทั่วโลก มิใช่จำกัดอยู่แต่ประเทศไทยเพียงที่เดียว

ณ วันนี้ราคาน้ำมันดีเซล (34.94 บาท/ลิตร) และแก๊สโซฮอล 95 (45.15 บาท/ลิตร ในไทยเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนอาจถือว่าแพงก็จริง แต่ก็ยังต่ำกว่าอีก 7 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา ฟิลิปปีนส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา จะมีก็เพียงสองประเทศที่ราคาต่ำกว่าไทย คือมาเลเซียและบรูไน โดยที่มาเลเซียนั้นเขาใช้วิธีอุดหนุนราคาที่ปั๊มน้ำมันโดยรัฐบาลกลางตั้งงบประมาณมาสนับสนุน (มิใช่ให้ PETRONAS ไปอุดหนุน)

การจะช่วยแก้ปัญหาน้ำมันแพง อย่างแรกก็คือทำแบบที่หลาย ๆ ท่านแนะนำ คือ ประหยัดพลังงาน (ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า) อดทนร่วมกัน ยอมรับความจริงว่า ไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิ ราคาน้ำมันในบ้านเราจึงต้องยึดโยงกับตลาดโลก เราจะฝืนกลไกตลาดไม่ได้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถูกนำมาใช้จนเกิน Limit ภาษีสรรพสามิต ก็ลดลงไปกว่า 5 บาท/ลิตรแล้ว เราคงต้องปล่อยให้ทั้งดีเซล และ LPG ลอยตัวขึ้นไปบ้าง เพื่อไม่เพิ่มภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันฯ จนหมดความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ในอนาคต รัฐบาลควรใช้วิธีตั้งงบประมาณแผ่นดินไปช่วยเหลือสร้าง safety net ไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นเฉพาะกลุ่ม ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ให้โควต้าซื้อก๊าซหุงต้มในราคาถูกครอบครัวละถัง/เดือน หรือจัดสรรคูปองเติมน้ำมันดีเซลในราคา discount ให้แก่รถบรรทุกหรือรถขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภครายย่อยเดือนละกี่ลิตรต่อคัน เป็นต้น ซึ่งโดยรวมจะใช้งบประมาณน้อยกว่าการอุดหนุนราคาแบบเหวี่ยงแห (blanket subsidies)

สำหรับมาตรการสุดท้าย หากเห็นว่ามีความจำเป็นเพราะรัฐขาดดุลงบประมาณจริงๆ ก็อาจพิจารณาตามที่หลายๆ ท่านแนะนำ คือ ออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนด มาเก็บภาษีพิเศษจำเพาะ แบบ Windfall profit taxโดยมีหลักเกณฑ์และกติกาที่ชัดเจนว่าจะเก็บจากธุรกิจไหนบนเงื่อนไขอะไร

การออกกฎหมายเก็บภาษีเป็นอำนาจของรัฐอยู่แล้ว ถือเป็นหลักสากลเพราะใช้บังคับโดยทั่วไป มิใช่เลือกปฏิบัติกับบางบริษัท แม้ภาคธุรกิจหรือนักลงทุนต่างชาติอาจจะบ่นบ้าง แต่ก็เป็นไปโดยชอบธรรม ซึ่งบริษัทมหาชนทั้งหลายจะสามารถ compliance ปฏิบัติได้ รักษาไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และการเคารพใน rule of laws

เคยมีปราชญ์ฝรั่งท่านหนึ่งชื่อ James Freeman Clarke กล่าวคำคมไว้นานมาแล้วว่า “A politician thinks of the next election; a statesman of the next generation.”

ขอให้กำลังใจกระทรวงพลังงาน ท่านรัฐมนตรีฯ และท่านปลัดกระทรวงฯ ขอให้ยึดถือหลักการไว้ในการแก้ปัญหา และมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อให้คนไทยมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ ต่อเนื่อง และในราคาที่เป็นธรรมครับ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"