ตรัง ชาวบ้านงัดภูมิปัญญาพื้นบ้านปั้นเตาดินใช้เอง ใช้เศษไม้ ไม้ฟืน กะลามะพร้าว เศษกระดาษ น้ำมันเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิง ติดไฟง่าย ใช้งานได้จริง แข็งแรง ทนทาน ไม่ง้อแก๊ส
ที่บ้านเลขที่ 94/1 หมู่ 6 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายเปลื้อง ช่วยรุย อายุ 52 ปี ชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพทำสวนยาง-สวนปาล์มน้ำมัน นำดูเตาดินที่ตัวเองได้ปั้นขึ้นเอง ตามความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่โบราณ รวมทั้งได้จากการเดินทางไปพบเห็นและศึกษาจากยูทูบ เพื่อนำมาดัดแปลงประดิษฐ์ใช้เองในครัวเรือน นำเศษวัสดุเหลือใช้ และขยะที่เกิดขึ้นในครัวเรือนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำกับข้าว เพื่อประหยัดค่าแก๊สหุงต้ม ทั้งนี้ นายเปลื้อง บอกว่า ตัวเองเคยใช้เตาถ่าน หรือเตาอั้งโล่มาตั้งแต่ต้น โดยซื้อมาจากตลาด แต่พบว่ามันพังง่าย จึงพยายามคิดค้นหาวิธีการทำเตาดินใช้เองมานานแล้ว โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความรู้ดั้งเดิมหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้สามารถใช้งานในครัวเรือนได้จริง เข้ากับสภาพพื้นที่ และยุคสมัย เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานทั้งค่าไฟ ค่าแก๊ส พร้อมนำดูเตาดินที่ตัวเองได้ปั้นขึ้นมา โดยเตาดินลูกแรก อายุกว่า 20 ปี ที่ต่อยอดมาจากเตาอั้งโล่ที่ซื้อมาจากตลาด โดยใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง แต่พบว่าไม่นานเชิงกราน ก็จะผุพังง่าย จึงนำดินมาทดลองปั้นทำเป็นเตาอั้งโล่ของตัวเองขึ้นมา โดยปั้นให้ยึดติดกับฐานอิฐด้านล่าง ส่วนเชิงกรานดัดแปลงให้เศษเหล็กมาเชื่อมต่อทำเป็นเชิงกรานแทนดิน สามารถหุงหาอาหารได้โดยใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งก็ใช้ดี แต่ตนเองมองว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร หลังจากนั้น จึงศึกษาจากยูทูบ ศึกษาวิธีการเผาไหม้ของไฟ ทดลองทำเตาตัวที่ 2 ออกมา โดยได้ทดลองนำเศษเหล็กมาเชื่อมทำเป็นขา 4 ขา ส่วนของเตาก็ทำจากเศษเหล็ก นำมาเชื่อมเองเป็นทรงสูง ใช้ไม้ฟืนหรือกะลามะพร้าวเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งก็สามารถใช้งานหุงหาอาหารได้เช่นกัน ไฟติดเร็ว แต่ข้อเสียมาก ทั้งเกิดควันดำ ทำหลังคาดำ เกิดคราบเขม่าในกระทะ และเปลวไฟเล็ดลอดออกด้านข้าง ร้อนมาก ทำให้ร้อนมือ ร้อนแขน เปลวไฟเผาขนแขน ทำให้ลำบากยุ่งยากในการใช้งาน แม้จะใช้ได้จริงก็ตาม
จนกระทั่ง เมื่อประมาณเดือนเศษที่ผ่านมา เห็นว่าแก๊สหุงต้มปรับราคาสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง ตกถังละ 300 – 400 บาท ทำชาวบ้านบ่นกันอื้ออึง ตนจึงต้องคิดใหม่ในเชิงธุรกิจว่า แก๊สแพงอย่างนี้ ต้องปรับวิธีการปั้นเตาดินใหม่ ให้แข็งแรง ทนทาน และใช้งานได้จริง ทั้งนี้ เห็นเตาพลังงานของกระทรวงพลังงานทำจากปูนซีเมนต์ แต่ตนเองเห็นว่ามันแพง มีต้นทุน ตนจึงคิดว่าเตาดินที่มีนี่แหละดัดแปลงใหม่ ทำให้แข็งแรง ทนทานใช้งานได้จริง ราคาไม่แพง จึงคิดออกแบบดัดแปลงเตาดินใหม่ โดยศึกษาจากยูทูบด้วย จากความรู้ที่ไปเห็นจากที่ต่างๆบ้าง จึงเกิดเตาดินใหม่ที่มาพร้อมกับปล่องระบายควันไฟ แข็งแรงทนทาน ลงทุนน้อย แต่สามารถใช้งานได้จริง ประหยัดพลังงาน พร้อมสาธิตการจุดเตาดิน ทำอาหารให้ดู ทั้งทำแกงส้มกุ้งมะละกอ และการต้มถั่วขาว ปรากฎว่า จุดไฟติดง่าย ใช้งานได้ดีจริง แข็งแรงทนทาน ไม่เกิดควัน โดยใช้กะลามะพร้าว น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว น้ำมันเครื่องเก่า ไม้ฟืน เศษขยะ เศษไม้ไผ่ กิ่งไม้ข้างๆบ้าน กระดาษชำระ กระดาษลังที่ส่งมากับการสั่งของออนไลน์ นำมาทำเป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งนอกจากลดการใช้แก๊สแล้ว ยังได้ช่วยเทศบาล หรืออบต.กำจัดขยะในครัวเรือนได้อีกด้วย ทั้งนี้ หลังก่อไฟขึ้นมาแล้ว สามารถทำอาหารได้หลายอย่าง หรือจะปิ้งย่างต่อก็ได้ เพราะระหว่างทำอาหารจากไม้ฟืน หรือจากกะลามะพร้าวจะเกิดถ่านหากไม่ปิ้งย่างต่อ ก็สามารถเก็บถ่าน โดยประดิษฐ์ไม้ตะแกรงตักถ่านขึ้นมาเอง และนำถ่านไปใส่ในช่องเก็บถ่านดับไฟ เพื่อไว้ใช้ในโอกาสต่อไป
โดยนายเปลื้อง กล่าวว่า เตาดินที่ตนปั้นใช้เองนี้ ลงทุนน้อย ประหยัดกว่าเตาของกระทรวงพลังงาน ใช้ประโยชน์ได้จริง แข็งแรงทนทาน ซึ่งสามารถปั้นให้ใหญ่ใช้กับกระทะใบบัวก็ได้ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน ซึ่งจะใช้เป็นประจำแล้วหลังจากแก๊สแพง ซึ่งสามารถประหยัดแก๊สได้มาก ไม่ต้องไปเติมบ่อย โดยจะใช้แก๊สบ้าง เฉพาะเวลาเร่งด่วนเท่านั้น แต่ทั่วไปจะทำกับเตาดินที่ปั้นขึ้นมา ส่วนประกอบสำคัญของเตาดินของตนเอง คือ 1.ดินร่วนปนทราย หรือทรายถม ปริมาณ 3 ส่วน ซึ่งทรายจะทำให้เกิดความร้อนได้เร็วและอมความร้อน 2.ดิน จำนวน 1 ส่วน , 3.อิฐแดง ก้อนละ 5 บาท จำนวน 50 ก้อน รวม 250 บาท ไว้สำหรับทำเป็นโครงผนังด้านใน 4.อิฐบล็อคที่มีนำมาทุบเป็นก้อนเล็กๆ และ 5.ปล่องซีเมนต์ใช้สำหรับเป็นปล่องระบายควันไฟ ราคาปล่องไฟประมาณ 300 – 400 บาท รวมลงทุนประมาณ 700 บาทเท่านั้น วิธีการ คือ นำดินและทรายมาผสมคลุกเคล้ากันจนเหนียว จากนั้นนำไปปั้นเป็นเตา โดยใช้อิฐแดงจัดวางทำเป็นผนังด้านใน ส่วนของอิฐบล็อกที่มีอยู่ นำมาทุบให้เป็นก้อนเล็กๆ เพื่อนำวางผสานรอบๆเตาเป็นชั้นๆ ขณะปั้น เพื่อให้เตาแข็งแรง ทนทาน จากนั้นต่อปล่องไฟขึ้นด้านบนเหนือหลังคา เพื่อระบายควัน นอกจากนั้น ก่อดินทำเป็นช่อง สำหรับดับถ่านไฟขึ้นเองอีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- คึกคัก นาย"บุ่นเล้ง" อดีตนายกอบจ.ตรัง นำทีมนายกบุ่นเล้ง สมัครครบ 30 เขต ท่ามกลางกองเชียร์คับคั่ง
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
อย่างไรก็ตาม ใครที่สนใจทั้งประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ต้องใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง สามารถขอคำปรึกษา หรือให้ไปถ่ายทอดความรู้และวิธีการทำ สามารถติดต่อได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 089 – 6455073
ทางด้านนายเปรม ช่วยรุย อายุ 78 ปี คุณพ่อนายเปลื้อง กล่าวว่า สมัยของตน หรือสมัยก่อนชาวบ้านหุงข้าว หุงหาอาหารด้วยไม้ฟืน ที่หาได้เองข้างบ้าน หรือในสวนไม่ต้องไปสิ้นเปลืองใช้แก๊ส โดยการใช้ก้อนหินจัดวางทำเป็นเตา ใช้ไม้ฟืน ต่อมาเกิดเตาถ่าน หรือเตาอั้งโล่ ก็ใช้ถ่านที่หาได้เองจากข้างบ้าน นำไม้มาเผาในหลุม ปิดทับด้วยแกลบ ก็จะได้ถ่านใช้หุงข้าว ต่อมาความเจริญเข้าถึง มีเตาแก๊ส ถังแก๊ส หุงข้าวกับหม้อไฟฟ้า เตาไฟฟ้า แต่ตอนนี้ไฟฟ้าแพง แก๊สแพง ก็ต้องหันกลับมาใช้ภูมิปัญญาเก่าๆที่โบราณใช้กัน จะได้ประหยัด ไม่ต้องเสียเงินซื้อแก๊ส ไม่สิ้นเปลือง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: