กทม. และภาคีเครือข่าย ชวนประชาชนร่วมงานเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” 7-31 ก.ค. 65 ปลุกหนังกลางแปลงให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ
วันนี้ (29 มิถุนายน 2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. และภาคีเครือข่าย เช่น สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย สมาคมหนังกลางแปลง หอภาพยนตร์ ชมรมกรุงเทพฯ น่าอยู่กว่าเดิม (Better Bangkok) ฯลฯ แถลงข่าวการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อ “กรุงเทพฯ กลางแปลง” ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ข่าวน่าสนใจ:
- ททท.เชิญชม แสง สี สวยงามอลังการ “VIJIT CHAO PHRAYA 2024” วันนี้-15 ธค. ฟรี
- ทีดีอาร์ไอ จัดเวิร์คชอป “ CONTENT CREATOR WORKSHOP: SYNERGY FOR CLEAN ENERGY”
- นนทบุรี หนุ่มวัย 24 เห็นรุ่นพี่เมา หวังดีอาสาขี่รถ จยย.ส่งบ้าน เกิด พลาดเสียหลักล้มถูกแท็กซี่ชนทับซ้ำดับคาที่
- ปัญหาที่ท้าทายของ “กรมชลประทาน” กับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนการเกิดอุทกภัยใน “พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง”
นายชัชชาติ กล่าวว่า ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ กรุงเทพมหานครจะจัดเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” เพื่อนำรอยยิ้ม นำความสุข นำความหวังกลับมาให้คนกรุงเทพฯ ต่อเนื่องจากเทศกาลดนตรีในสวน โดยจะมีการฉายหนังทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อรับกับเทศกาล Film Festival ซึ่งจะจัดในสถานที่ รวม 10 สถานที่ ตลอด 4 สุดสัปดาห์ รวมฉายหนังทั้งหมด 25 เรื่อง ที่มีความหลากหลาย ทั้งภาพยนตร์ที่เก่ามาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 จนถึงปัจจุบัน โดยเลือกให้เหมาะสมสอดคล้องกัน ทั้งพื้นที่ถ่ายทำและพื้นที่ที่ฉาย อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ชมในละแวกนั้น ๆ และเหมาะกับการรับชมเป็นครอบครัว เพื่อฟื้นคืนความคึกคักให้กับเมือง ดึงศักยภาพพื้นที่ออกมาใช้งานโดยการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายภาคประชาชน และพร้อมสนับสนุนให้กรุงเทพฯ เป็นสถานที่สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ต่อไปในอนาคต
ด้าน นายศานนท์ กล่าวเสริมว่า สำหรับ 12 เทศกาลที่จะกรุงเทพมหานครจะจัดขึ้น เป็นการกระจายเศรษฐกิจ เราอยากให้มีกิจกรรมหลากหลายในหลายพื้นที่และคิดว่าหนังกลางแปลงดีที่สุด เพราะมีความน่าสนใจ ฉายในพื้นที่เปิด สามารถเข้าถึงชุมชนต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยในเดือนกรกฎาคมนี้ เทศกาลกรุงเทพฯ กลางแปลง จะเป็นการนำภาพยนตร์ไทยมาฉายเป็นหลัก และมีภาพยนตร์นานาชาติมาฉายบ้าง ในรูปแบบของหนังกลางแปลง
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อคืนชีวิตชีวาให้กับกรุงเทพฯ ได้แก่ กิจกรรม workshop หัวข้อ Storytelling Workshop โดยทีมผู้กำกับไทย กิจกรรมพูดคุยกับผู้กำกับและนักแสดงก่อนฉายหนัง กิจกรรมแสดงดนตรี โดยกลุ่มนักดนตรีในสวน กิจกรรม Street Show โดยเครือข่ายนักแสดง Street Show เป็นต้น
ส่วนในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทางเนชั่นจะจัดเทศกาล World Film Festival of Bangkok โดยจะเป็นการนำภาพยนตร์นานาชาติมาฉาย ซึ่งจะเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ปักหมุดสถานที่ฉายหนัง 4 สุดสัปดาห์ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2565
สัปดาห์แรก 7-9 กรกฎาคม 2565 มีรายละเอียดดังนี้
• วันที่ 7กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) ณ ลานคนเมือง เขตพระนคร และเรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ (2552) ณ True Digital Park เขตพระโขนง
• วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง เวลาในขวดแก้ว (2534) ณ ลานคนเมือง เขตพระนคร และเรื่อง 36 (2555) ณ True Digital Park เขตพระโขนง
• วันที่ 9กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง แพรดำ (2504) ณ ลานคนเมือง เขตพระนคร และเรื่อง แม่นาคพระโขนง (2502) ณ True Digital Park เขตพระโขนง
สัปดาห์ที่สอง 14-16 กรกฎาคม 2565 มีรายละเอียดดังนี้
• วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง RRR (2565) ณ ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย และเรื่อง 4Kings (2564) ณ สวนรถไฟ เขตจตุจักร
• วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544) ณ ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย และเรื่อง Portrait of a Lady on Fire (2562) ณ สวนรถไฟ เขตจตุจักร
• วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง บุญชูน่ารัก (2531) ณ ศูนย์เยาวชนคลองเตย เขตคลองเตย และเรื่อง One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ (2564) ณ สวนรถไฟ เขตจตุจักร
สัปดาห์ที่สาม 21-23 กรกฎาคม 2565 มีรายละเอียดดังนี้
• วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง หมานคร (2547) ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย และเรื่อง Fast and Furious (2552) ณ ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค
• วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง อนธการ (2558) ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย และเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) ณ ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค
• วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง Wheel of Fortune and Fantasy (2564) ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย และเรื่อง เพื่อนสนิท (2548) ณ ตลาดบางแคภิรมย์ เขตบางแค
สัปดาห์สุดท้าย 28-31 กรกฎาคม 2565 มีรายละเอียดดังนี้
• วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง รักแห่งสยาม (2550) ณ สยาม Blox I สยามสแควร์ เขตปทุมวัน และเรื่อง คู่กรรม (2556) ณ สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง
• วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) ณ สยาม Blox I สยามสแควร์ เขตปทุมวัน และเรื่อง พี่นาค (2562) ณ สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง
• วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง สยามสแควร์ (2527) ณ สยาม Blox I สยามสแควร์ เขตปทุมวัน และเรื่อง มือปืน (2526) ณ สวน 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เขตลาดกระบัง
• วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ฉายเรื่อง School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน (2563) ณ สวนครูองุ่น เขตวัฒนา และเรื่อง One for the Road วันสุดท้ายก่อนบายเธอ (2564) ณ สุขุมวิท 31 เขตวัฒนา
กรุงเทพมหานครจึงขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมซึมซับบรรยากาศหนังกลางแปลงในเมืองกรุงฯ กระตุ้นให้อาชีพหนังกลางแปลงกลับมามีชีวิต ฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ให้กลับมาคึกคัก นำเสน่ห์หนังกลางแปลงมาฉายให้ทุกคนได้รับชมไปพร้อมกัน 7 – 31 กรกฎาคม นี้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: