พระนครศรีอยุธยา-รองผู้ว่าฯกรุงเก่าเปิดงานพุทราประวัติศาสตร์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรท่ามกลางสายฝนกลางโบราณสถานวัดพระราม
เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 2 ก.ค. ที่บริเวณลานข้าววัดพระราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นายประทีป การมิตรี รองผวจ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดงานพุทราประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและงานถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร โดยมีนายไพฑูรย์ รื่นสุข เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดงานและให้การต้อนรับ มีนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา นายวิรัตน์ แข็งขัน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา น.ส.นริศรา จันทร์อี่ รองผ.อ.ททท.พระนครศรีอยุธยา นางพิศมัย เลิศอิทธิบาท ประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเกษตรอำเภอจาก 16 อำเภอในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเกษตรกรจำนวนมากนำสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาร่วมงาน ซึ่งก่อนการเปิดงานฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก
นายประทีป การมิตรี รองผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การอนุรักษ์ต้นพุทราโบราณในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นต้นไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ ได้รับยการคัดเลือกเป็น “รุกขมรดกของแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี”ประจำปี 2560 จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาสวนพุทราประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ในรูปแบบกรอบการเรียนรู้ทรัพยากร เพื่อพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการด้านปกปักทรัพยากรของประเทศ ดังนี้ กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืช มีเป้าหมายที่จะปกปักกลุ่มต้นพุทราโบราณในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นการรักษาพันธุกรรมดั้งเดิมเอาไว้ กิจกรรมที่ 2 สำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช ได้มอบหมาย ให้เจ้าหน้าที่และอาจารย์ นักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ ออกสำรวจเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากร ต้นพุทราโบราณ เพื่อต่อยอดแนวทางการพัฒนา กลุ่มต้นพุทราโบราณและเป็นองค์ความรู้ ภายใต้การยอมรับเชิงวิชาการ กิจกรรมที่ ปลูกรักษาพันธุกรรมพืช จัดทำแปลงพันธุ์พุทราพื้นเมือง ในสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมทั้งขยายพันธุ์พุทราดังกล่าว ให้หน่วยงานเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาและสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขยายพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกทั้งการสร้างจิตสำนึก เพื่อให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา บุคคลผู้อยู่อาศัยบริเวณเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ในการอนุรักษ์กลุ่มพุทราโบราณ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของกลุ่มพุทราโบราณ ให้รู้จักหวงแหนและการนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
นายไพฑูรย์ รื่นสุข เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ต้นพุทราที่ขึ้นตามโบราณสถานภายในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยานับว่าเป็นกลุ่มไม้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ต้นพุทราเหล่านี้ยืนต้นมากว่า 140 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งราชจักรีวงศ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรุกขมรดก ของแผ่นดิน ประจำปี 2560 ต้นพุทราโบราณช่วยเสริมธรรมชาติให้ร่มรื่น สวยงามภายในอุทยาน และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม อีกทั้งยังให้ผลผลิตให้ลูกหลานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เก็บกิน และนำมาแปรรูปสามารถจำหน่ายเป็นของขวัญ ของฝากมีชื่อของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง การอนุรักษ์ต้นพุทราจึงไม่ใช่แค่การดูแลรักษาให้ต้นยังคงอยู่เพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ ต้นพุทราให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึง เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป
ดังนั้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของต้นพุทราโบราณ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ จึงได้อนุมัติงบประมาณให้สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาสวนพุทราประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยกิจกรรม ในปีนี้ ประกอบด้วย การปรับปรุงบำรุงต้นพุทราโบราณ จำนวน 872 ต้น และจัดงานพุทราประวัติศาสตร์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร (JUJUBE FESTIVAL) ในระหว่างวันที่ 2 – 3 กรกฎาคม 2565 จำนวน 2 วัน โดยมีกิจกรรมภายในงาน ได้แก่ นิทรรศการ “พุทราประวัติศาสตร์กรุงศรีพระนครศรีอยุธยา และ พฤกษศาสตร์และคุณประโยชน์พุทรา” และ “เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่” กิจกรรมสาธิตเมนูอาหารจากพุทรา . กิจกรรมถ่ายทอดความรู้การดูแลไม้ผล และไม้ยืนต้น กิจกรรมจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย อาหารและเครื่องดื่ม ผลผลิตจากพุทรา รวมทั้งกิ่งพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: