กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี กำชับในที่ประชุม ศบค. ให้กระทรวงสาธารณสุข ติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 อาการรุนแรง และการกลายพันธุ์ของ BA.4 และ BA.5 ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ ให้ทำแผนเผชิญเหตุ ป้องกันการแพร่ระบาดในโรงเรียน ขณะที่มหาดไทย ให้เฝ้าระวังจุดผ่อนปรนตามแนวชายแดนที่ไม่มีจุดควบคุมโรคกำกับ
วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 10/2565 วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานการประชุม ได้กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามอาการผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เตรียมความพร้อมเตียง แพทย์ ยา เวชภัณฑ์ ให้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและยาเป็นระยะ พร้อมเห็นชอบขยายระยะเวลา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ต่อไปอีก 2 เดือน เป็นคราวที่ 19 (1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2565)
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา กำลังแทนที่สายพันธุ์เดิม ขณะที่ในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นเช่นกัน จากการมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามอาการของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การสุ่มตรวจ และติดตามการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และกำหนดมาตรการต่าง ๆ ต่อไป
และในช่วงนี้ที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นในไทย ขอให้ติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมของเตียง แพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อ จำนวนผู้ได้รับวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีนและภูมิคุ้มกัน อาการความรุนแรงของโรค และการตอบสนองต่อยารักษา รวมทั้งขอให้รายงานความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยาให้ทราบเป็นระยะด้วย
สำหรับมติ ศบค.ที่สำคัญ ได้แก่
รับทราบแนวคิดของกระทรวงสาธารณสุข ในการรับมือการระบาดและเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารจัดการหลังการระบาด (Post-pandemic) ซึ่งมีแผน/มาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด 19 ในระยะต่อไป 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์
เห็นชอบขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ต่อไปอีก 2 เดือน (1 สิงหาคม 2565 – 30 กันยายน 2565 เป็นคราวที่ 19 เพื่อยังคงไว้ซึ่งดำรงบรรดามาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แบบบูรณาการให้มีความเป็นเอกภาพในการบังคับใช้เป็นการทั่วไปทั้งประเทศ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเดินหน้าเศรษฐกิจ หวังให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิต กลับมาประกอบอาชีพได้อย่างปกติ พร้อมสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการที่เหมาะสมในการดูแลตรวจตราด่านช่องทางเข้า-ออก ทั้งด่านปกติ ด่านธรรมชาติ การเปิดจุดผ่อนปรน การค้าชายแดน โดยเฉพาะจุดผ่อนปรนที่ไม่มีด่านควบคุมโรคกำกับ
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่ต้องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเรื่องอื่น ๆ แต่มีเหตุผลความจำเป็น เป็นการแก้ปัญหาเชิงบูรณาการ วัตถุประสงค์เพื่อการรักษาชีวิตของประชาชนให้มากที่สุด ฉะนั้น อย่าบิดเบือนเป็นอย่างอื่น พร้อมฝากให้ดูแลบุคลากรทางสาธารณสุขให้ดี โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถิติการแพร่ระบาดสูงในปัจจุบัน และขอให้กรุงเทพมหานครดูแลการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัย เน้นการรณรงค์ สื่อสาร สวมหน้ากากอนามัย
รวมทั้งฝากให้ กระทรวงสาธารณสุขและโรงเรียน พิจารณาหามาตรการที่ปลอดภัย ในการทำกิจกรรมร่วมกันของนักเรียน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: