‘นครพนม’ ชวน “งดเหล้าตลอดเข้าพรรษา” ด้วยวิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ’๖๕
วันที่ 12 ก.ค.65 นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมเนื่องใน “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2565” ระหว่างวันที่ 10 – 17 กรกฎาคม 2565 พร้อมประชาสัมพันธ์เชิญชวนชาวนครพนมเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า และเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา ประจำปี 2565” ผ่านระบบลงนามออนไลน์ 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) Application Smart อสม. 2) เว็บไซต์ อสมดอทคอม และ 3) เว็บไซต์ Stopdrink.com ในช่วงเข้าพรรษา ประจำปี 2565
‘สสจ.นครพนม” บูรณาการร่วมภาคีเครือข่าย เชิญชวนชาวนครพนมงดเหล้าตลอดเข้าพรรษา “ปลอดเหล้า ปลอดโรค ปลอดภัย ห่างไกลโควิด 19” เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2565 ด้วยวิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย เพิ่มความสุขในครอบครัว พร้อมชวนประชาชน หรือผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเมินความเสี่ยงผ่านเว็บไซต์ “ติดเหล้ายัง-ดอทคอม” และลงนามปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา ออนไลน์ได้ที่ www.stopdrink.com/sign
ข่าวน่าสนใจ:
- นบ.ยส.24 บูรณาการร่วมกับกลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด สสจ.นครพนม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือตรวจพื้นที่อาคารหลังศูนย์ฟื้นฟู…
- ชาวบ้านร้อง พบหญิงนั่งปลดทุกข์หน้าบ้านคนอื่น ไม่อายกล้องวงจรปิด
- อบจ.ลำปางสืบสานประเพณีลอยกระทง บูรณาการร่วมกับอปท.จัดโครงการประเพณีลอยกระทง
- กกต.อบจ.เพชรบูรณ์ สั่งเช็กเอกสารคล้ายประกาศรับรองผู้สมัครฯ หลุด หลัง"ลุงโทนี"โพสต์โชว์ก่อนลบทิ้ง
วันเข้าพรรษาของทุกปี ถือเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ในปีนี้ตรงกับ “วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบคำขวัญไว้ “ปลอดเหล้า ปลอดโรค ปลอดภัย ห่างไกลโควิด 19” โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนคนไทย เนื่องจากการลด ละ เลิก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการสังสรรค์ ไม่ไปในสถานที่แออัด จะเป็นการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรคโควิด 19 ทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ตลอดจนผู้นำทุกศาสนาได้มีโอวาทมุ่งเน้น “ให้เห็นถึงผลกระทบด้านลบจากการดื่มสุรา เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชน ลด ละ เลิก ดื่มสุรา”
ทั้งนี้ “กระทรวงมหาดไทย” ในฐานะคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และในระดับจังหวัดได้มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานฯ ได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและชุมชน ในการร่วมกันป้องกันควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมในการลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงได้เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งในช่วงเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2565 นี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ขับเคลื่อนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 878 อำเภอ โดยจัดกิจกรรมให้แก่ประชาชนตามบริบทของพื้นที่ เป็นแบบอย่างที่ดีในการลด ละ เลิกเหล้า และรายงานผลการดำเนินงานกลับมายังกรมการปกครองต่อไป
อย่างไรก็ตาม การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีวัตถุประสงค์หลักในการลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการเพิ่มขึ้นของนักดื่มหน้าใหม่ สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะประเมินความเสี่ยงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบำบัดรักษา สามารถประเมินความเสี่ยงผ่านเว็ปไซต์ “ติดเหล้ายัง-ดอทคอม” หรือโทรปรึกษาได้ที่ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา “สายด่วนเลิกเหล้า 1413” นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรม “เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า” ผ่าน Application Smart อสม. หรือลงนามผ่านทางออนไลน์โดยตั้งเป้าหมายให้ อสม. เชิญชวนคนในครอบครัวและคนรอบข้าง อย่างน้อย 3 คน ลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระหว่างช่วงเข้าพรรษา สำหรับประชาชนที่สนใจลงนามปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษาออนไลน์ได้ที่ www.stopdrink.com/sign
กรมควบคุมโรคได้รวบรวมสถิติผู้ดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ในปี 2564 มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในรอบ 12 เดือนประมาณ 16 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีจำนวน 57 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ดื่มที่มีอายุระหว่าง 25 – 44 ปี มากที่สุด (ร้อยละ 36.5) รองลงมาอายุ 45 – 59 ปี (ร้อยละ 21.4๓๒.๔) อายุ 20 – 24 ปี (ร้อยละ 31.6) อายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 15.2) ส่วนเยาวชนอายุ 15 – 19 ปี มีอัตราการดื่มต่ำที่สุด (ร้อยละ 15) ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายยังคงร่วมรณรงค์ฯ ในการป้องกันการเกิดนักดื่มหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ขอเชิญชวนให้ประชาชน ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา เพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง โดยใช้วิธี “1 ลด 3 เพิ่ม” คือ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย และเพิ่มความสุขในครอบครัว ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดรายจ่ายภาคครัวเรือนแล้วยังได้สุขภาพที่ดีขึ้นยังจะนำไปสู่ความสุขแก่ตนเอง และสังคมในภาพรวม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: