วันนี้ (17 กรกฎาคม 2565) เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ หรือ คนก. (Academic Network for Decentralization, AND) ได้ออกแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ เรื่อง คัดค้านร่างกฎหมายเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หลักการถอดถอนฯ และจะก่อปัญหาร้ายแรงให้แก่การปกครองท้องถิ่น โดยมีเนื้อหาระบุว่า เนื่องด้วยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ (คนก.) ซึ่งมีรายชื่อดังนี้
1. รศ.ดร.โคทม อารียา – มหาวิทยาลัยมหิดล
2. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต – สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
3. อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล – มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด – มหาวิทยาลัยขอนแก่น
5. อาจารย์ ดร. ศักดิ์ณรงค์ มงคล – มหาวิทยาลัยรังสิต
6. ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ – มหาวิทยาลัยมหสารคาม
7. รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว – มหาวิทยาลัยบูรพา
8. รศ.ดร. อลงกรณ์ อรรคแสง – มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
9. ดร. ศรัณย์ จิระพงษ์สุวรรณ – มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
10. ผศ.ดร. บูชิตา สังข์แก้ว – มหาวิทยาลัยรังสิต
11. นายเมธา มาสขาว – นักวิชาการอิสระ
12. ดร. จาตุรนต์ ทองหวั่น – มหาวิทยาลัยขอนแก่น
13. ผศ.ว่าที่ร้อยตรีจตุพล ดวงจิตร – มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
14. อาจารย์เขมมิกา ศรีร้อยคำ – มหาวิทยาลัยรังสิต
15. อาจารย์รัศมี สุขรักษา – มหาวิทยาลัยรังสิต
16. ดร.สมนึก จงมีวศิน – นักวิชาการอิสระ
17. ผศ.ดร.เอกพันธ์ ปิณฑวณิช – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
18. อาจารย์ ดร.โอฬาร อ่องละ – นักวิชากากรด้านรัฐศาสตร์
19. ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ – มหาวิทยาลัยมหิดล
20. อาจารย์ธีรนันท์ ขันตี – มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
21. นายบรรณ แก้วฉ่ำ – นักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่น
22. อาจารย์ ดร.วศิน โกมุท – มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
23. อาจารย์กิติมา ขุนทอง – มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร
24. อาจารย์พสุธา โกมลมานย์ – มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร
25. ผศ.ดร.อัครเจตน์ ชัยภูมิ – มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
26. อาจารย์ชุมพล ศรีรวมทรัพย์ – นักวิชาการอิสระ
27. ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ – นักวิชาการอิสระ
28. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ – นักวิชาการด้านสาธารณสุข
29. อาจารย์สุนี ไชยรส – มหาวิทยาลัยรังสิต
30. ดร.ศรัณยุ หมั้นทรัพย์ – สถาบันพระปกเกล้า
31. อาจารย์ ดร.ภัทรมน สุวพันธุ์ – มหาวิทยาลัยรังสิต
32. อาจารย์ ดร.ภูนท สลัดทุกข์ – มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
33. ผศ.ดร.สมิทธิรักษ์ จันทรักษ์ – นักวิชาการอิสระ
34. รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
35. รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
36. ดร.นิดาวรรณ เพราะสุนทร – มหาวิทยาลัยรังสิต
37. ผศ. เอกรินทร์ ต่วนศิริ – มหาวิททยาลัยสงขลานครินทร์
38. รศ.ดร.สามารถ ทองเฝือ – มหาวิททยาลัยสงขลานครินทร์
39. อาจารย์อันวาร์ กอมะ – มหาวิททยาลัยสงขลานครินทร์
40. ผศ. ดร.ชมพู โกติรัมย์ – นักวิชาการอิสระ
ได้ทราบว่าสภาผู้แทนราษฎรได้รับพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ… ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ตามการเสนอของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) และโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์และขณะนี้ร่างฯ นี้ได้ผ่านการพิจารณาในวาระ 2 แล้ว ซึ่งเมื่อได้พิจารณาเนื้อหาของร่างฯ นี้แล้ว พวกเรามีความห่วงใยและเกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า หากร่างฯ นี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาจนมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะไม่เอื้ออำนวยต่อการเกิดพัฒนาการของประชาธิปไตยในท้องถิ่น ก่อให้เกิดปัญหาความแตกแยก ความรุนแรงทางการเมืองในท้องถิ่น การแบ่งเป็นฝักฝ่าย การกลั่นแกล้งทางการเมือง ฯลฯ อันเนื่องมากจากปัญหาการอาศัยช่องทางการถอดถอนที่ออกแบบขึ้นใหม่ในร่างนี้ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลักการถอดถอน หลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หลักการควบคุมด้วยการกำกับดูแล หลักการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองที่จะมีส่วนร่วมในการเมืองระดับท้องถิ่น ฯลฯ ดังเหตุผลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต่อไปนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ว่าฯ พบสื่อ สานสัมพันธ์ พัฒนาเชียงราย มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม และดูแลผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึง
- "ททท." ประกาศความสำเร็จ "อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย" ปิดปี 2567
- ร้อยเอ็ด…เจ้าอาวาสวัดเหนือฯ วอนโยม อย่าเอาหมา แมวทิ้งวัด ชี้ เป็นภาระ บาป…
- กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทยตรวจความพร้อมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย
1. ทั้งกระบวนการผลักดันร่างฯ และเนื้อหาของร่างฯ นี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 อย่างชัดเจน เพราะเกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างเป็นระบบและรอบด้าน ไม่มีการเปิดเผยผลการรับฟังและการวิเคราะห์ต่อประชาชน และนำผลนั้นมาประกอบพิจารณาในทุกกระบวนการ หากแต่เป็นร่างกฎหมายที่ถูกเขียนเนื้อหาเพื่อสนองความต้องการของผู้กำหนดนโยบายเพียงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังเป็นร่างกฎหมายที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในลักษณะที่เป็นการสร้างกติกาใหม่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีมาตรฐานคุณภาพของกฎหมายที่ต่ำกว่ากติกาเดิมที่มีอยู่ในพรบ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 (ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบัน) เสียอีก
2. ร่างกฎหมายนี้ได้ตัดสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะออกเสียงโดยตรงและโดยลับเพื่อถอดถอนหรือให้คงสถานะสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้ต่อไปซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งออกไป โดยให้คงไว้แต่การเข้าชื่อแสดงความประสงค์ให้ถอดถอนให้ครบจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด ซึ่งจะเป็นการปิดโอกาสที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะได้ตัดสินใจกำหนดอนาคตทางการเมืองของตัวแทนของตนและกำหนดชะตากรรมของอปท.ของตนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การตัดกระบวนการออกเสียงซึ่งมีผลเป็นการตัดสิทธิของประชาชนเรื่องนี้นับว่าขัดต่อหลักการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (Recall) ที่ได้รับการเคารพและปฏิบัติอยู่ทั่วโลกและที่มีอยู่เดิมในประเทศไทยอย่างชัดเจน นอกเหนือจากการขัดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้ว
3. ร่างฯ นี้ได้เปิดช่องให้ราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาคขยายอำนาจเข้ามาแทรกแซงและควบคุม อปท.ภายใต้รูปแบบของการถอดถอนโดยการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอให้ผู้กำกับดูแล (รมต.มหาดไทยในกรณีผู้ว่ากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดในกรณีอปท.อื่นๆ ทั่วประเทศ) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของตนเอง แล้วให้ผู้กำกับดูแลนั้น มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่งและอาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างการสอบสวนทั้งที่อาจไม่ปรากฎว่ามีความผิดในท้ายที่สุดด้วย
การถอดถอนและการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยช่องทางนี้จึงไม่ได้เชื่อมโยงกับสิทธิที่จะได้ตัดสินใจในเรื่องที่เป็นแก่นสารสำคัญของการถอดถอนโดยประชาชนแต่อย่างใด แต่ทำให้กระบวนการถอดถอนตามร่างฯ นี้กลายเป็นกระบวนการเพิ่มอำนาจให้ผู้กำกับดูแลได้ “อาศัยฐานอำนาจจากการเข้าชื่อของประชาชน” เข้ามาทำการสอบสวนอีกช่องทางหนึ่งอย่างไม่มีความจำเป็น ทั้งที่มีอำนาจสอบสวนตามปกติอยู่แล้วตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. แต่ละฉบับ
นอกจากนี้ จำนวนผู้เข้าชื่อให้สอบสวนก็มีเพียงไม่ต่ำกว่า 5,000 คนหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นๆ (แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า) ไม่ว่าท้องถิ่นนั้นจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กเพียงใด กรณีจึงเป็นไปได้ว่า แม้แต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่เป็นผู้บริหาร อปท.ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศก็อาจถูกผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนน้อยมากเพียงเท่านี้เข้าชื่อให้สอบสวนและอาจถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปโดยมิชอบ ทั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม.มีอยู่เกือบ 5 ล้านคน
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา พวกเราจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกพรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกทุกท่านออกเสียงยังยั้งร่างกฎหมายนี้หรืออย่างน้อยที่สุดหาทางป้องกันหรือระงับปัญหาที่จะเกิดขึ้นดังที่ห่วงกังวล และขอให้ประชาชนชาวไทยทั้งหลายโปรดติดตามการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทน สมาชิกวุฒิสภา รัฐบาล และหน่วยงานรัฐทุกองค์กรที่ผลักดันร่างกฎหมายไปจนกว่าจะแน่ใจว่าร่างฯ นี้ได้ถูกยังยั้งหรือมีการแก้ไขปัญหาความไม่ถูกต้องทั้งปวงลงแล้ว
ด้วยความเคารพและห่วงใย
17 กรกฎาคม 2565
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: