X

สันนิบาตเทศบาล จับมือ บพท.ออกแบบหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง เดินหน้า ‘ท้องถิ่นดิจิทัล’

กรุงเทพฯ – สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ผลักดันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดิจิทัล เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ร่วมมือ บพท. จัดทำชุดหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง เตรียมเปิดรุ่นแรก สิงหาคม 65

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือกันระหว่าง ในการจัดทำหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดี และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูงขึ้น

“ปรากฎการณ์ชัชชาติฟีเวอร์ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ถือเป็นโอกาสดีที่จะกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในคุณค่าความสำคัญของคำว่า ‘ท้องถิ่น’ มากขึ้น และเกิดการยอมรับว่า ทางรอดของเทศบาล คือ ทางรอดของประเทศไทย เพราะเทศบาล คือ ศูนย์กลางของชุมชน ศูนย์กลางของเศรษฐกิจ ตราบใดที่เทศบาลเข้มแข็ง ผมเชื่อมั่นว่าประเทศชาติก็จะเดินหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งต้องขอขอบคุณ บพท. อย่างมากที่เข้ามาช่วยทำหลักสูตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง เพื่อยกระดับการพัฒนาเทศบาลให้มีความเข้มแข็ง” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร และ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม บพท. ร่วมกันให้ข้อมูลว่า หลักสูตรดังกล่าวจะมีความแตกต่างกับหลักสูตรอื่น ๆ ที่เคยมี โดยเนื้อหาจะเน้นการนำนำวิชาความรู้ไปลงมือปฏิบัติงานจริงในพื้นที่จริง มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันของภาคีในท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายของสันนิบาตเทศบาล คู่ขนานไปกับแนวทางการทำงาน ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัด เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน หรือการลงทุนแบบใหม่ บนฐานทุนทางวัฒนธรรม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ที่มีความสำคัญอย่างมาก

รศ.ดร.ปุ่น ระบุว่า ตัวชี้วัดผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร จะพิจารณาประเด็นสำคัญ 3 ประการ คือ ความพึงพอใจของประชาชนในท้องถิ่น และขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการลงทุนด้วยตัวเอง รวมทั้งข้อค้นพบที่จะต่อยอดขยายผล เพื่อส่งมอบไปเป็นนโยบายกับภาคส่วนต่าง ๆ

รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ เปิดเผยว่า ชุดหลักสูตรนักพัฒนาระดับสูง ชื่อย่อ พมส. ประกอบด้วย 4 หลักสูตร (Modules) โดย Module แรก มีเป้าหมายการสร้างความเข้าใจร่วมกัน กำหนดเป้าหมายร่วม สร้างวิสัยทัศน์ร่วมของการพัฒนาเมือง พัฒนาเทศบาล พัฒนาท้องถิ่นแนวใหม่ในยุคเศรษฐกิจใหม่ ที่ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล อบต. อบจ. ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชน

นอกจากนี้ ยังต้องปรับกระบวนทัศน์ วิธีคิดในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน นำมาวิเคราะห์ศักยภาพเพื่อหาโอกาสในการพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่ในยุคเศรษฐกิจใหม่ เพราะในพื้นที่ของแต่ละเมือง แต่ละเทศบาลจะมีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดได้อย่างไร หลังจบหลักสูตรสิ่งที่จะได้ก็คืออย่างน้อยจะทำให้เข้าใจว่าในระบบเศรษฐกิจใหม่มีความจำเป็นอย่างไร เมืองของเรามีศักยภาพมีโอกาสยังไงบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เราเชื่อมท้องถิ่นกับโลกอย่างไร

หลังจากวิเคราะห์โอกาสและศักยภาพของเมือง ก็จะนำมาสู่เรื่องของ Module ที่ 2 คือ ข้อมูลในโลกปัจจุบัน ดิจิตอล เทคโนโลยี จะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไ รในเชิงของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล หรือแม้กระทั่งนำมาใช้ในเชิงของการเชื่อมโยงแผน เชื่อมโยงงาน คน งบประมาณ และเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยระบบข้อมูลหรือเทคโนโลยีได้อย่างไร แล้วก็นำสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล

ในหลักสูตรจะมี 4 กรอบ คือ
1.เศรษฐกิจดิจิทัล
2.เศรษฐกิจสีเขียว
3.ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ เพียงแต่ยังไม่ได้ดึงสิ่งเหล่านี้มาใช้ในเชิงของการพัฒนาอาชีพหรือพัฒนารายได้ หรือพัฒนาคนให้เกิดความภาคภูมิใจในพื้นที่
4.กลไกทางการเงินใหม่ การระดมทุนในลักษณะ Crowdfunding ที่ทำให้เกิดกองทุนในการพัฒนาเมืองพัฒนาจะทำอย่างไร รูปแบบไหน โดยใช้การวิจัยเป็นตัวสนับสนุนการดำเนินการ

รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม บพท. สรุปว่า สิ่งที่จะได้รับเมื่อจบหลักสูตรนี้ คือ
1.ระบบข้อมูลของเมือง หรือท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างระบบและเรียนรู้ไปด้วยกัน
2.วิธีการลงทุนแบบใหม่และวิธีการหาเงินรูปแบบใหม่ เพื่อการต่อยอดขยายโอกาสพัฒนาเมือง
3.แผนธุรกิจและสังคมของท้องถิ่นและเทศบาล
4.เห็นถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบอาหารระบบเกษตรแบบใหม่
5.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยทุนประวัติศาสตร์และทุนวัฒนธรรม
6.การจัดการภาครัฐแนวใหม่
7.กลไกการเงินแบบใหม่
8.การสร้างธรรมาภิบาลในท้องถิ่น เทศบาล ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบตนเองได้ในมิติต่าง ๆ

จะใช้ระยะเวลาในการเรียน 12 เดือน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกและทาบทาม อปท.ให้เข้าร่วมในหลักสูตร คาดว่ารุ่นที่ 1 ซึ่งจะเปิดในเดือนสิงหาคมนี้ จะมี 30 องค์กร ผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"