กรุงเทพฯ – นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ชี้แจง ไอเดียตั้ง ‘กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหมู่บ้าน’ จี้รัฐเก็บค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม จาก OTT ต่างชาติ อย่างไลน์ เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ยูทูป เพราะให้บริการโดยไม่ต้องลงทุน แต่กลับกอบโกยผลประโยชน์มหาศาล จึงควรจ่ายเงินให้รัฐไทยเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ใช่การเก็บภาษีจากประชาชน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Takorn Tantasith ระบุว่า
นับตั้งแต่มีการพัฒนาระบบโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศไทย ตั้งแต่ 2G เป็น 3G 4G และ 5G เป็นประเทศแรกในอาเซียน การใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาตลอด
ปัจจุบันข้อมูลจากรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (The Sustainable Development Report 2022) ชี้ว่า คนไทยเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต 57 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน มีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ใช้งาน 92.33 ล้านเลขหมาย ในจำนวน 57 ล้านคนนี้มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนคิดเป็นสัดส่วน 71%
ข่าวน่าสนใจ:
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย นำมาสู่การเติบโตของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่แข่งขันให้บริการหลายเจ้าทั่วโลก คนไทยราว ๆ 51 ล้านคน ติดต่อสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ แมสเซนเจอร์ ติ๊กต็อก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ กูเกิล และยูทูบที่เราคุ้นเคยกันดี ผู้เชี่ยวชาญเรียกบรรดาแพลตฟอร์มนี้ว่า “Over The Top” (OTT) หรือ “การให้บริการเหนือโครงข่าย”
แพลตฟอร์มทั้งหมดนี้ เป็นของต่างชาติแต่ใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของไทย ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เหมือน ๆ กับ ถนน ไฟฟ้า สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น ต้องใช้เงินลงทุนนับเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท เงินเหล่านี้มาจากภาษีของประชาชนบ้าง และบางโครงสร้างพื้นฐานภาคเอกชนไทยเป็นผู้ลงทุนแทนรัฐ
ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเหล่านี้ เก็บเกี่ยวผลกำไรแต่ละปีมีจำนวนมหาศาล โดยปัจจุบันยังไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ ให้รัฐ และประชาชนของประเทศนั้น ๆ เมื่อปีที่แล้วบริษัท เมตา (Meta) เจ้าของ FaceBook มีรายได้สุทธิ 10,285 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตกราว ๆ 370,000 ล้านบาท ส่วน TikTok กวาดรายได้จากการให้บริการทั่วโลกกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 145,000 ล้านบาท
ตามหลักการ การที่บริษัทเอกชนดำเนินการแสวงหากำไร โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐ บริษัทเหล่านี้ควรมีหน้าที่จ่ายเงินให้รัฐในอัตราที่เหมาะสม ในกรณีของไทย แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของไทย ควรจ่ายเงินให้รัฐไทย ผมขอเรียกเงินที่ต้องจ่ายนี้ว่าเป็น “ค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ”
วิธีการจัดเก็บเงินจากแพลตฟอร์มต่างชาติ อาจทำผ่านกระบวนการตรวจวัดปริมาณทราฟฟิก หรือปริมาณข้อมูลที่วิ่งเข้าออกเกตเวย์ โดยนำขนาดของทราพฟิกมากำหนดเป็นขนาดธุรกิจ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และคำนวณอัตราที่เรียกเก็บตามรายได้ของขนาดธุรกิจ “ถ้าทราฟฟิกใหญ่มาก มียูสเซอร์เป็นล้านคน ก็เก็บเงินมาก ถ้าทราฟฟิกขนาดเล็ก ก็เก็บเงินน้อยลงตามสัดส่วน”
ข้อเสนอนี้แตกต่างจากเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กับแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ หรือ Vat for e-service ที่กรมสรรพากรเริ่มเก็บเมื่อปีที่แล้ว เพราะการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม “เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคไทยต้องจ่ายภาษี โดยที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้ควักกระเป๋าตังค์จ่ายให้รัฐไทยแม้แต่น้อย เพราะไปบวกค่าภาษีเข้ากับค่าบริการแล้ว” แม้รัฐจะได้เงินภาษีมาบริหารประเทศ แต่ผู้แบกรับภาระภาษีคือประชาชนไทย ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่เข้ามาใช้โครงสร้างพื้นฐานไทย
ตามข่าวบอกว่า แพลตฟอร์มต่างชาติที่ลงทะเบียนในไทยมีทั้งหมด 127 ราย ช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 (เพียง 6 เดือน) แพลตฟอร์มดังกล่าวทำรายได้รวมแล้ว 60,874 ล้านบาท กรมสรรพากรเก็บแวตเข้าคลัง 4,261 ล้านบาท
แนวคิดการเรียกเก็บค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมนี้ เป็นกระแสที่ได้รับการยอมรับในโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงแค่ไทย ปัจจุบันสหภาพยุโรปมองว่าบรรดาบริษัทที่สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล แม้ไม่ได้อยู่ในอียู แต่ถือว่าเป็นบริษัทมีตัวตนทางดิจิทัล (digital presence) และถ้าบริษัทเหล่านี้อยู่ในข่ายทำรายได้ในอียูมากกว่า 7 ล้านยูโรต่อปี หรือมีผู้ใช้งาน (user) มากกว่า 1 แสนคนต่อปี ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้อียู
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการอียูกำลังร่างกฎหมายเก็บภาษีดิจิทัล คาดการณ์ว่าถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วและเก็บภาษีดังกล่าวที่อัตรา 3% จะทำให้สมาชิกอียูมีรายได้กว่า 5 ล้านล้านยูโรต่อปีภาษี หรือประมาณ 186.25 ล้านล้านบาท
สำหรับความกังวลที่ว่าหากเก็บค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้แล้ว แพลตฟอร์มต่างชาติซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะหยุดหรือลดการให้บริการในไทยนั้น ผมคิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะข้อเสนออัตราจำนวนเงินที่รัฐ จะเรียกเก็บนับเป็นสัดส่วนที่ต่ำ เมื่อเทียบกับฐานรายได้ของแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่ความนิยมใช้บริการสูงมาก นอกจากนี้ หากในอนาคตประเทศอื่นๆ เริ่มเก็บเงินดังกล่าวในลักษณะเดียวกันเช่นที่เราจะเห็นในอียู การที่ไทยเรียกเก็บเงินเหล่านี้ไม่ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจในไทยสูงกว่าประเทศอื่นแต่อย่างใด
ถ้าเรายอมรับในหลักการเรื่องการเก็บค่าใช้โครงพื้นฐานแล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาคือ จะนำรายได้นี้ไปใช้จ่ายอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทย
วิธีหนึ่งที่ผมสนับสนุนคือ การจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหมู่บ้าน” ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลในระบบฐานรากจากหมู่บ้านให้เข้มแข็งสู่ระดับประเทศ หน้าที่หนึ่งของกองทุนนี้ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด “คือการเพิ่มทักษะทางด้านดิจิทัลให้เยาวชนและคนในชุมชน เพื่อให้สามารถปรับตัวและมีงานที่ดี ในยุคที่โลกและไทยกำลังเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ”
เงินเหล่านี้ไม่ใช่เงินอัดฉีดชั่วคราวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ทำเพื่อช่วยพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
กองทุนดังกล่าวจะบริหารงานโดยตัวแทนภาคประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพื่อกระจายเงินลงไปสู่หมู่บ้าน และเมื่อถึงหมู่บ้านก็มีคณะกรรมการของหมู่บ้านเองเป็นผู้บริหารเอง จะไม่ใช่การบริหารกองทุนที่แบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อจะได้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน และเกิดความรับผิดชอบของหมู่บ้านเองโดยตรง
ลองนึกภาพดู เรามี 72,035 หมู่บ้านทั่วประเทศ ถ้ามี “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล” อย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อประโยชน์ของประชาชน และมีการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน รากฐานของเศรษฐกิจไทยด้านดิจิทัลจะเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก และคนไทยจะมีความพร้อมและได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากกระแสดิจิทัลของโลก “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังครับ”
ล่าสุด นายฐากร ยังขยายความ “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหมู่บ้าน“ ว่า
บทความเรื่อง “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหมู่บ้าน” ที่โพสต์ลงไปวานนี้ ผมขอขยายความเพิ่มเติมถึงแนวคิดดังกล่าวว่า
ไม่ใช่เป็นการเก็บภาษีจากประชาชน แต่เป็นการเก็บค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมจากแพลตฟอร์มต่างชาติ
ดังนั้น ผู้ใช้บริการหรือคนไทยจะไม่ได้รับ”ผลกระทบ” แต่จะได้รับโอกาสเพิ่มขึ้น
ผมขอเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า เหตุใดจึงต้องเรียกเก็บเงินดังกล่าว
แพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นรถต่างประเทศมาวิ่งบนถนนในประเทศไทย พร้อมกับนำสินค้าหลาย ๆ ชนิดมาขาย ขายดีมีรายได้มากจนส่งผลกระทบให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง ตกงานกันไปเป็นจำนวนมาก
ประเทศเราต้องจัดเก็บเงินกับรถคันนี้หรือไม่ ในเมื่อรถคันนี้ได้ใช้ทรัพยากรทุก ๆ อย่างของประเทศเราในการค้าขาย ทั้งถนน ไฟฟ้า เป็นต้น และยังทิ้งของเสียส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อาจมีผู้แย้งว่า รถคันนี้ได้สร้างงาน สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนไทยด้วยเช่นกัน เช่น Content Creator, YouTuber แต่รายได้เหล่านี้เจ้าของ Platform เป็นผู้กำหนดและมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
ขณะที่สินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายและกระจายให้คนไทยช่วยขาย บริษัทไทยหรือคนไทยเมื่อขายของได้ก็ต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศไทย
คำถามก็คือถ้าเราจะไม่จัดเก็บเงินจากรถต่างประเทศคันนี้ เราจะเอาเงินจากไหนมาบำรุงรักษา ปรับปรุง ซ่อมแซม ขยายถนนใหม่ ๆ
เงินที่เราจัดเก็บจากรถคันนี้จะนำเงินเข้า ”กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล “ ซึ่งกองทุนนี้จะถูกขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนมีหน้าที่เพียงกำหนดนโยบายและกระจายเงินลงสู่หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการกองทุนระดับหมู่บ้านภาคประชาชนมาบริหาร
หมู่บ้านทั้งหมดจะเปรียบเสมือนเป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่จำนวน 72,035 หน่วย ที่จะผลักดัน ขับเคลื่อน สร้างทักษะ สร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ
ทุก ๆ ท่านลองคิดดูนะครับ ถ้าเรามีเครื่องจักรขนาดใหญ่จำนวนมากขนาดนี้ การขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในประเทศจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน กองทุนนี้จะเติมเงินให้หมู่บ้านทุก ๆ ปีจากเงินที่จัดเก็บได้ “โดยสรุปประชาชนทุกคนจะได้ประโยชน์จากกองทุนนี้”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: