โคแฟคอุบลฯที่อยากเห็น : จุดเปลี่ยนสำคัญในระดับพื้นที่ต่อการรับมือข่าวลวง
“ประเทศไทยกำลังทำอะไรอยู่” คือหัวข้อที่สุภิญญา กลางณรงค์หรือพี่เก๋ ผู้ก่อตั้ง Cofact ประเทศไทย เล่าให้ฟังในงานประชุมภายใต้หัวข้อ “ปฏิบัติการ Cofact อุบลฯ ที่อยากเห็น” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สิ่งที่พี่เก๋ให้ความสำคัญและเน้นเป็นพิเศษคือสถานการณ์ปัญหาในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในอดีตสังคมไทยเผชิญปัญหาการผูกขาดอำนาจการสื่อสารที่ตกอยู่ในมือของรัฐ และต่อมาก็เป็นการจัดการโดยเอกชน ซึ่งภาคประชาชนยังไม่มีโอกาสได้ใช้สิทธิในการสื่อสาร ซึ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความอึดอัดของประชาชนที่รัฐหรือผู้มีอำนาจเป็นผู้ครอบครอง เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสงครามในยุคข้อมูลข่าวสารมันมีมาตลอด และถึงทุกวันนี้เมื่อเรามีสมาร์ทโฟนเข้ามาที่ถือเป็นการปฏิวัติวงการไอทีและประชาชนเข้าถึงสื่อมากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือความไม่มีเขอบเขตของข้อมูลข่าวสารที่เราไม่สามารถเชื่อใครได้เนื่องจากทุกคนเป็นนักสื่อสารเหมือนเรากำลังเผชิญกับแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ดังนั้นโจทย์ที่เราเผชิญในยุคปัจจุบันคือการรับมือข้อมูลข่าวสาร ที่รัฐเองต้องใช้กฎหมายเข้ามาจัดการข้อมูลที่บิดเบือน เป็นเท็จหรือข่าวลวงข่าวปลอมที่เรากำลังเจอ เช่นเดียวกับข้อคิดเห็นของนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี ที่วันนี้ให้เกียรติมากล่าวเปิดและต้อนรับผู้ร่วมเวที ซึ่งคุณหมอให้ความสำคัญกับประเด็นการรู้เท่าทันสื่อและเน้นว่าองค์กรสื่อทั้งระดับส่วนกลางและท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
กิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย โดยมีเจ้าภาพหลักคือ Cofact ประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำโครงการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจับมือทำงานร่วมกับคนอุบลราชธานี โดยมีเพจ Ubon Connect ที่มีผู้ก่อตั้งคือคุณสุชัย เจริญมุขยนันท และกิจกรรมครั้งนี้ก็เป็นแม่งานหลักในการออกแบบกระบวนการและเชื่อมประสานผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน โดยมีน้องๆจากมูลนิธิสื่อสร้างสุขช่วยเป็นเจ้าภาพอีกส่วนในการประสานงาน
หนึ่งในคีย์แมนสำคัญในงานอีกคนที่มาร่วมครั้งนี้คือคุณโยพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ที่วันนี้มาเป็นวิทยากรในหัวข้อรู้ทันภัยสื่อร้าย อาชญากรออนไลน์ ซึ่งผู้เข้าร่วมสนใจอย่างมากเนื่องจากเป็นประเด็นปัญหาที่ทุกคนต่างเผชิญ และถือว่าคนอุบลฯที่เข้าร่วมงานครั้งนี้โชคดีมาก เนื่องจากคุณโยได้เล่าประสบการณ์ตรงจากการทำงานตรวจสอบข่าวลวง ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นเบื้องหลังความคิดและวิธีการทำงานเพื่อตั้งข้อสังเกตในการรับมือกับกลวิธีของข้อมูลเท็จที่มาจากทุกทิศทุกทาง
ภาคบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อปฏิบัติการโคแฟคอุบลฯที่เป็นมา และอยากเห็น โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทำงานวงกว้างในงานด้านสื่ออย่าง ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษา Cofact ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีทศพล ไกรพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านนักสื่อสาร ที่ถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในระดับท้องถิ่นที่เป็นกำลังสำคัญในพื้นที่ในการลุกขึ้นมาสร้างพลังการสื่อสารเพื่อเป็นเครื่องในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในชุมชน
บทสรุปในช่วงท้ายของกิจกรรม คือการหารือว่าชาวอุบลราชธานีจะไปต่ออย่างไรกับงานโคแฟค ซึ่งทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า ทุกภาคส่วนต้องทำงานหนักมีความต่อเนื่องในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นจุดเจ็บปวดที่ทุกคนกำลังเจอ โดยเฉพาะชาวบ้านในท้องถิ่นที่ต้องเร่งสร้างความตระหนักและให้เครื่องมือในการรับข้อมูลข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน และวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นกับคนในพื้นที่ เพราะแม้ว่าการทำงานของโคแฟคประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 แต่สำหรับคนในพื้นที่หลายคนบอกว่า นี่คือเรื่องใหม่และกำลังหาทางออก เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีเครื่องมือในการจัดการแม้จะรู้ว่ากำลังเผชิญปัญหา ดังนั้น องค์ความรู้เหล่านี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระจายให้สังคมในทุกระดับได้รับรู้ร่วมกัน
กมล หอมกลิ่น : รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: