X

กล้าพันธุ์ปาล์มขาดแคลน ทำต้นกล้าปลอมไม่มีใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์-ใบรับรองสายพันธุ์ ระบาดหนัก

ตรัง – เกษตรกรแห่ปลูกปาล์มน้ำมันหลังเห็นว่าราคาดีกว่าพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ทำกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันขาดตลาด คนแย่งกันซื้อ  ทำกล้าพันธุ์ปาล์มปลอม ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา ไม่มีการจดทะเบียนแปลงเพาะ ไม่มีใบอนุญาตการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ และไม่มีใบรับรองสายพันธุ์  ไม่มีใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตรระบาดหนัก  ทั้งเปิดแปลงเล็กแปลงน้อยเพาะขายพันธุ์ขาย ทั้งรับต่อมาวางขายกันอย่างเอิกเกริกเกลื่อนกลาด และขายผ่านทางโชเชียล  เกษตรกรรายใหญ่ที่ปลูกปาล์มมานาน รวมทั้งผู้จำหน่ายกล้าพันธุ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นห่วงเกษตรกรที่ซื้อปลูกโดยขาดความรู้ เชื่อจะทำลายเศรษฐกิจ และทำลายคุณภาพปาล์มน้ำมันในวันข้างหน้า  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการแจ้งเตือน หรือให้ความรู้แก่เกษตรกรแต่อย่างใด

ที่แปลงเพาะขยายพันธุ์กล้าปาล์มน้ำมันของร้าน ตรัง -มาเลเซีย เทคโนโลยีเกษตร ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นแปลงเพาะขยายพันธุ์และจำหน่ายกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ถูกต้องตามกฎหมาย และรายใหญ่ที่สุดในจ.ตรัง  พบว่าคนงานกำลังเร่งเพาะขยายพันธุ์ รวมทั้งดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่กำลังเติบโตหลายรุ่นหลายขนาด  ขณะเดียวกันในส่วนของต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ได้ขนาดอายุ 8-9 เดือน ก็ได้มีเกษตรกรทั้งในพื้นที่จ.ตรัง และต่างจังหวัด ทยอยเดินทางมารับต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่จองเอาไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาไม่ขาดสาย

นายสรนนท์  จิโรจน์มนตรี นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง และเป็นเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายใหญ่ใน จ.ตรัง   กล่าวว่า ตนเดินทางมารับต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่จองไว้ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งยังได้ไม่ครบ และจองใหม่ในปี 2564ที่ ผ่านมา รวมจำนวน 1,600 ต้น เพื่อเอาไปปลูกโดยเป็นการจองข้ามปี จึงจะได้กล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ได้มาตรฐานจากแปลงที่ได้มาตรฐานและมีใบอนุญาตการนำเข้าเมล็ดพันธุ์  และการจำหน่ายที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง  โดยต้องเลือกซื้อจากแปลงเพาะขยายพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้น เพราะจะได้กล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพ โดยขณะนี้ตนพบเห็นเกษตรกรจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าคงจะขาดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมัน แต่อยากปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะราคาดี และกล้าปาล์มขาดแคลน ทำให้คนแย่งกันซื้อ  จึงไปซื้อต้นกล้าปาล์มน้ำมันที่มีขายอยู่ทั่วๆไป ที่มีอายุประมาณ 3-4 เดือน และไปซื้อจากแปลงไม่ได้มาตรฐานนำไปปลูก ตนเห็นแล้วก็สงสาร เพราะต้นกล้าพันธุ์น้ำมันขนาดเล็กอายุแค่นี้ ต้นยังไม่สมบูรณ์ยังไม่สามารถแยกเพศผู้เพศเมียได้ ในขณะที่เจ้าของแปลงเมื่อคนไปซื้อก็เร่งขาย สักแต่จะเอาเงิน  ซึ่งปาล์มที่ปลูกต้องเป็นเพศเมียเท่านั้น และต้องได้มาตรฐาน ดังนั้น ในวันข้างหน้าผ่านไปประมาณปีเศษ ก็จะรู้ว่ากล้าพันธุ์ปาล์มที่ได้ไปไม่มีคุณภาพ  และเมื่ออายุได้ประมาณ 2-3 ปี ก็จะเห็นว่าไม่มีลูก ถึงตอนนั้นจะเสียหาย  ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นเพราะเกษตรกรไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับต้นกล้าปาล์มน้ำมัน และหน่วยงานราชการทั้งเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอต่างๆ ก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร    ตนเองปลูกปาล์มน้ำมันมากว่า 40 ปี ตั้งแต่ปี 2522 เห็นแล้วก็สงสาร เพราะจะทำให้เสียหายมาก  จึงขอแนะนำให้เกษตรกรซื้อจากแปลงเพาะที่ได้มาตรฐานเท่านั้น โดยอายุที่สมบูรณ์และปลูกได้จะต้องประมาณ 8-9 เดือน โดยแปลงเพาะที่ได้มาตรฐานจะมีการคัดต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันเรียบร้อยแล้ว ต้นที่ไม่สมบูรณ์ก็จะนำไปทำลาย จะไม่นำมาจำหน่าย

ทางด้านนางหนูภา แก้วเกื้อ   อายุ 67 ปี มาจาก อ.ควนขนุน พัทลุง ซึ่งเดินทางมารับต้นกล้าปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า ตนเองสั่งจองไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว (พ.ศ.2564) จำนวน 400 กว่าต้น ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงก็มีคนแห่ปลูกปาล์มน้ำมันกันเป็นจำนวนมาก จึงเดินทางมาซื้อที่นี่ เพราะมีใบรับรองถูกต้อง และเคยซื้อไปปลูกแล้ว และไม่กล้าซื้อจากแปลงอื่นๆ กลัวได้พันธุ์ไม่มีคุณภาพ ซึ่งเกษตรกรจะต้องระวังเรื่องต้นกล้าปาล์มที่ไม่ได้คุณภาพ เพราะขณะนี้คนแห่ปลูกกันมาก

ทางด้านนายวีระ ตระกูลรัมย์  เจ้าของแปลงเพาะขยายพันธุ์ และผู้จำหน่ายต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่ได้มาตรฐานรายใหญ่ในจ.ตรัง  กล่าวว่า เกษตรกรที่มารับกล้าพันธุ์ในปีนี้คือ เกษตรกรที่ลงชื่อจองไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว  (พ.ศ.2564) โดยเฉลี่ยจะต้องจองประมาณหนึ่งปี  ส่วนคนที่จะจองในปี 2565 นี้ก็จะต้องรับในปี 2566 ขณะนี้เริ่มทยอยเพาะ และเมื่อสามารถคัดแยกความสมบูรณ์ และสายพันธุ์ได้ ว่าจะได้สายพันธุ์ละจำนวนกี่ต้น ต้นไม่สมบูรณ์ก็จะทำลาย  จากนั้นก็จะทำสต๊อกไว้ แล้วก็เผื่อความเสียหายไว้ด้วย  จากนั้นจึงจะเปิดจอง  แต่ปีนี้ก็เป็นปีหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องของเมล็ดพันธุ์ที่จะได้น้อย  กว่าปีที่ผ่านมา  เพราะว่าบางประเทศที่เคยส่งให้ประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด  จึงขาดกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์  จึงคิดว่าปีนี้คงผลิตได้ประมาณครึ่งเดียว เช่น  เมล็ดพันธุ์จากประเทศคอสตาริก้า  ปาปัวนิวกินี  มาเลเซีย  และอินโดนีเซีย  จึงคิดว่าปีนี้จะได้เมล็ดพันธุ์น้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยกำลังการผลิตของแปลงประมาณปีละ  200,000 ต้น   ขณะที่ยอดความต้องการประมาณ 2-3 เท่า หรือประมาณ 6 แสนต้น   แต่แปลงผลิตได้จำนวนจำกัด ซึ่งความจริงสามารถผลิตได้มากกว่านี้ แต่ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์  ส่วนราคาจำหน่าย สำหรับแปลงมาตรฐาน บริษัทแม่จะเป็นคนกำหนดราคาขายของแต่ละสายพันธุ์มาให้ ซึ่งทุกแปลงมาตรฐานจะจำหน่ายในราคาเดียวกันทั้งหมดทั่วประเทศ  โดยจะมีประมาณ 13 สายพันธุ์ ราคาขายตั้งแต่ต้นละ 140 – 250 บาท  ส่วนตัวเป็นห่วงแปลงย่อยที่มาอัพราคาขึ้นในช่วงที่ภาวะการขาดแคลน และความต้องการต้นกล้าพันธุ์ปาล์มสูงมาก   และขณะนี้ก็เริ่มมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น โดยบางเจ้ามาจองสายพันธุ์ไปจากนั้นนำไปจำหน่ายต่อ บวกราคาเพิ่ม ซึ่งทางแปลงก็ไม่สามารถที่จะเช็คได้ว่าเอาไปปลูกเองหรือเอาไปจำหน่ายต่อ  ซึ่งขณะนี้ถ้านับยอดความต้องการจริงๆนี้เชื่อว่าหลายล้านต้น  และเป็นห่วงที่สุดขณะนี้กล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันปลอมที่ระบาดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มากมายขนาดนี้ เพราะว่าความต้องการของเกษตรกรสูงขึ้นมาก เนื่องจากราคาดี ทางแปลงก็ไม่เคยเจอราคาปาล์มน้ำมันสูงถึงกิโลกรัมละ 10 กว่าบาทเกษตรกรจึงหันมาปลูกกันเยอะมาก  ขณะที่แปลงที่ได้มาตรฐานจะต้องมีการจองกันข้ามปี จึงจะได้ของแน่นอน แต่ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการจะปลูกแต่หาต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันจองไม่ได้ หรือขาดความรู้ ความเข้าใจ ก็จะไปซื้อจากที่มีการขายผ่านโซเชียล หรือจากแปลงเพาะขายโดยเก็บเมล็ดจากโคนต้นมาใส่ถุงเพาะขาย  โดยไม่ทราบแหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์   เกษตรกรจะต้องระวังในเรื่องของที่มาของสายพันธุ์ว่าเป็นสายพันธุ์ที่มาแท้หรือไม่เพราะว่าปกติสายพันธุ์แท้นั้นจะต้องมีใบรับรอง หรือใบรับประกันให้ว่ามาจากบริษัทอะไรจำนวนเท่าไหร่  เพาะเท่าไร และจำหน่ายได้จำนวนเท่าไร  โดยแปลงที่ได้มาตรฐานจะมีการทำสต๊อก และมอบเอกสารให้กับเกษตรกรที่มาซื้อ แต่ในที่นี้ก็จะมีคนบางกลุ่มที่ฉวยโอกาส เอาเมล็ดปาล์มใต้โคนมาใส่ถุงเพาะขาย  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่ซื้อไปปลูกรู้ก็ต่อเมื่ออายุปาล์มประมาณ 3-4 ปี  หรือปาล์มเริ่มให้ผลผลิต ซึ่งจะรู้ว่าเป็นปาล์มปลอม ก็ตอนนั้นจะทำให้เสียโอกาส อาจจะต้องล้มแล้วก็ปลูกใหม่  จะตามหาแปลงที่ซื้อมาก็ไม่มี และทำให้เศรษฐกิจเสียหาย รวมทั้งคุณภาพปาล์มน้ำมันทั้งระบบ  จึงขอเตือนเกษตรกรควรที่จะศึกษาสายพันธุ์ว่าพื้นที่ปลูกของเรานั้นเหมาะสำหรับปลูกสายพันธุ์อะไร  แล้วก็ต้องจองจากแปลงเพาะที่ได้มาตรฐาน    มีแหล่งที่มา  มีการจดทะเบียนแปลงเพาะ มีใบอนุญาตการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ และมีใบรับรองสายพันธุ์   แต่ต้องระวังใบรับรองปลอมด้วย จะต้องปรึกษาจากผู้รู้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน