X

จิตเวชนครพนมฯ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

จิตเวชนครพนมฯ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิตเภท สำหรับเครือข่ายผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิต เขตสุขภาพที่ 8 (จังหวัดนครพนม สกลนคร และบึงกาฬ)

วันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่ห้องประชุม โรงแรมเดอะริเวอร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นายแพทย์ปรีชา งามสำโรง นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิด “ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิตเภทในเขตสุขภาพที่ 8 (จังหวัดนครพนม สกลนคร และบึงกาฬ) ” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ร่วมกับทีมวิทยากรจากโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ โรงพยาบาลท่าอุเทน และโรงพยาบาลเรณูนคร


นายแพทย์ปรีชา งามสำโรง รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของจังหวัดนครพนม สกลนคร และบึงกาฬ สืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิ -19 ยาเสพติด สภาวะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช อาทิ แนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเพื่อป้องกันการกลับไปเป็นซ้ำ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย และการป้องกันปัญหาผู้ป่วยจิตเวชสารเสพติดก่อความรุนแรง ฯลฯ สำหรับบุคลากรเครือข่ายในเขตสุขภาพที่ 8 (จังหวัดนครพนม สกลนคร และบึงกาฬ) ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา และนักวิชาการสาธารณสุข จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นต้น


นางสาวเกษสุดา ภิญโญพันธ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพยาบาล เปิดเผยว่า จากข้อมูลการประเมินสุขภาพใจของประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด-19 ผ่านทาง Application Mental Health Check-in จำนวน 1,088 ราย พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเครียด จำนวน 478 ราย (คิดเป็นร้อยละ 43.93) มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ จำนวน 454 ราย (คิดเป็นร้อยละ 41.73) มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า จำนวน 71 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6.53) และมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จำนวน 67 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6.16) และจากการประเมินในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 210 ราย พบว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเครียด จำนวน 50 ราย (คิดเป็นร้อยละ 23.81) มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ จำนวน 83 ราย (คิดเป็นร้อยละ 39.52) และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าจำนวน 5 ราย (คิดเป็นร้อยละ 2.38) แต่ยังไม่พบผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว ทางโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมความรู้ ทักษะและประสบการณ์ ในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ จึงได้ดำเนินการจัด “ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคจิตเภทในเขตสุขภาพที่ 8 ” ในระหว่างวันที่ 4-5 สิงหาคม 2565

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน