กรุงเทพฯ – กทม. ร่วมกับ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำ (MOU) เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้คนกรุงทั้ง 50 เขต อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และความเท่าเทียมกันในทุกระดับชั้น พร้อมเปิดระบบร้องเรียนผ่าน Line Official: “OMB FAST TRACK BMA” และสายด่วน 1676 (ฟรี)
(10 ส.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี คณะผู้บริหารสำนักงานตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) จากนั้นได้ร่วมเสวนา “จับมือเดินหน้าร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชน สผผ. & กทม.” ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
1.การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเร่งด่วน FAST TRACK OMB & BMA สำหรับประชาชนที่ประสบปัญหา มีความเดือดร้อน หรือเป็นผู้พบเห็นปัญหา สามารถแจ้งผ่านระบบ Line Official: “OMB FAST TRACK BMA” หรือ โทรสายด่วน 1676 (ไม่มีค่าใช้จ่าย)
2.ด้านการประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของทั้งสององค์กร เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานรัฐเข้าใจระบบ ระเบียบ ขั้นตอนการปฏิบัติงานให้แก่ประชาชน ด้วยการออกหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ ให้บริการปรึกษาปัญหาทางกฎหมายและรับเรื่องร้องเรียนโดยบไม่มีค่าใช้จ่ายทั้ง 50 เขตใน กทม.
ซึ่งนำร่องไปแล้ว 4 เขต คือ เขตสวนหลวง ทวีวัฒนา ประเวศ ดินแดง ได้ผลตอบรับดีประชาชนเกิดทัศนคติที่ดีมากขึ้น โดยครั้งต่อไปจะจัดขึ้นใน วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม เขตภาษีเจริญ และวันเสาร์ที่ 24 กันยายน ที่เขตพระโขนง
3.มุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาล สร้างการมีส่วนร่วมกันในทุกเครือข่ายในระดับชุมชน ในรูปแบบกิจกรรมประชาชนคนทำดี จัดอบรมผู้แทนภาคประชาชนให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะผู้นำชุมชนที่เป็นกระบอกเสียงและผู้นำความคิดของชุมชนในหลายภาคส่วน อาทิ ประธานชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข อปพร. แกนนำองค์กรชุมชนผู้นำสตรี ผู้นำศาสนา และชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งจะจัดนำร่องในพื้นที่เขตสวนหลวงเป็นเขตแรก ในวันเสาร์ที่ 17 กันยายนนี้
4.สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับเยาวชน โดยการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ “เยาวชนคนดีเพื่อสังคม” เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะกลไกในการส่งเสริมธรรมาภิบาล ให้แก่เยาวชนกว่า 100 คน จากทั้ง 50 เขตในกทม. เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถเป็นกระบอกเสียงและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหาในชุมชนตนเองได้
5.การแก้ไขปัญหาส่งเสริมวินัยทางจราจรและทางม้าลาย โดยร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เป็นแกนหลักในการรณรงค์ ทั้งกลุ่มผู้ขับขี่ ห้างร้าน และประชาชนผู้เดินถนน
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงทั้ง 5 ด้านนี้ เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ร่วมกันจากทั้งสององค์กร ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแก้ไขความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน เพื่อมุ่งให้ประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของคนเมือง สามารถขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการแก้ไขปัญหาประชาชนที่เดือดร้อน ประสบปัญหาเอง หรือเป็นผู้พบเห็นปัญหา สามารถแจ้งผ่านระบบ Line Official: “OMB FAST TRACK BMA” หรือ โทรสายด่วน 1676 (ไม่มีค่าใช้จ่าย) จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงแก้ปัญหาในทันที
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้นำเทคโนโลยีระบบ Traffy Fondue มาใช้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเส้นเลือดฝอยจากประชาชน เพราะถือว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน หัวใจหลักของการดูแลพี่น้องประชาชน คือ ให้พลังประชาชนมีสิทธิในการแจ้งปัญหาให้เราทราบ ทำให้ผู้รับผิดชอบรับทราบปัญหาได้เร็วเพื่อที่จะเข้าไปแก้ไขได้รวดเร็วและแก้ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้ผู้ว่าฯ สั่งการ สุดท้าย หัวใจคือต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ทุกวันอาทิตย์ มีนโยบาย ผู้ว่าฯ สัญจร ลงไปพื้นที่ทุกเขต เพื่อพบพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นแนวความคิดเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดินในการดูแลประชาชน
ทั้ง 5 เรื่องหลักเป็นนโยบายที่ กทม. ดำเนินการ ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เป็นกลกลไกหนึ่งที่เป็นพลังของประชาชนให้มีอำนาจสมดุลกับหน่วยงานราชการ
“มิติหนึ่งที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่ได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพ คือความไม่สมดุลของข้อมูล ข้อมูลของภาครัฐมีมากกว่า แต่ไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนรู้ คนที่มีข้อมูลกว่าได้เปรียบ คนที่มีข้อมูลน้อยกว่าเสียเปรียบ หน้าที่ของภาครัฐคือ ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้และมีวิธีการสื่อสารที่ดี นี่คือหัวใจของการแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีช่วยได้ นโยบายของกรุงเทพมหานคร ทำ 2 อย่าง อย่างแรกคือ เปิดเผยข้อมูล Open Data ให้ประชาชนเห็นงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อเปิดเผยข้อมูล ประชาชนได้เห็นข้อมูล ก็จะมีความสมดุลของข้อมูลมากขึ้น เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลดีขึ้น รวมทั้ง Open Bangkok และ Open Contract ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณ และร่วมมือกับทุกหน่วยงานได้ อย่างที่ 2 คือ ต้องมีวิธีการสื่อสารข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: