กรุงเทพฯ – คณะรัฐมนตรี อนุมัติ ร่าง พ.ร.ฎ.ลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ลดต้นทุน-บรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ผู้ประกอบการรถสาธารณะ
วันที่ 16 สิงหาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปี สำหรับรถยนต์รับจ้าง รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. …. เพื่อช่วยลดต้นทุนการประกอบการรถสาธารณะทั้งรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายจากราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากวิกฤติพลังงานรอบใหม่ ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ จากสงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน กระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานถึงร้อยละ 75 ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการของรถสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบอาชีพ อาจจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้ลดอัตราภาษีรถประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง รถยนต์รับจ้างสามล้อ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ครบกำหนดเสียภาษีรถประจำปีระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 65 ถึง 30 กันยายน 66 ลงร้อยละ 90 ของอัตราภาษีประจำปี ท้าย พ.ร.บ.รถยนต์พ.ศ.2522 ดังนี้
รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) มีน้ำหนักรถ 1,300 กก. เสียภาษี 68.50 บาทจากเดิม 685 บาท น้ำหนักรถ 2,000 กก. เสียภาษี 106 บาทจากเดิม 1,060 บาท
ข่าวน่าสนใจ:
รถยนต์รับจ้างสามล้อ น้ำหนัก 500 กก. เสียภาษี 18.50 บาท จากเดิม 185 บาท
รถจักรยานยนต์สาธารณะ (อัตราภาษีจะคิดต่อคัน) เสียภาษี 10 บาท จากเดิม 100 บาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า มาตรการลดอัตราภาษีครั้งนี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 70 ล้าน 257,501 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.197 ของภาษีรถทุกประเภททั้งหมดที่จัดเก็บ จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ของ กทม. และ อปท. เพียงเล็กน้อย แต่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะได้อีกมาตรการหนึ่ง
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เยียวยาโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพ รถแท็กซี่ และรถยนต์สาธารณะ อายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบและไม่เป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 39 และ 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัดไปแล้ว รวม 16,694 คน (แท็กซี่ 12,918 คน และวินมอเตอร์ไซค์ 3,776 คน) โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าของชีพคนละ 5,000 บาท/เดือน รวม 16,694 คน ภายใต้กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: