นครพนม – วันที่ 30 พ.ย.61 เวลา 14.30 น. นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะเดินทางตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อติดตามความก้าวหน้า การดำเนินงานทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา(Para soil coment) ซึ่งเป็นงานปรับปรุงถนนลาดยาง LMC บริเวณถนนบนคันคลองอ่างเก็บน้ำห้วยบุ่งหมากโมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านคำสว่างน้อย ต.คำสว่าง อ.เมือง จ.นครพนม โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รอง ผวจ. หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนให้การต้อนรับ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว
หลังมีการแนะนำตัวเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จากโครงการชลประทานจังหวัดนครพนม ก็เริ่มชี้แจงงานปรับปรุงถนนลาดยาง LMC โดยใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมชั้นผิวจราจร ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกยางพารา และส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ที่สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 7 โดยโครงการชลประทานนครพนม ได้มีการปรับปรุงผิวจราจรบนคันคลองชลประทานในจังหวัดฯ จำนวน 40 โครงการ โดยถนนเส้นนี้ถือว่าเป็นถนนลาดยางสายแรกของจังหวัดนครพนม ที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม
ข่าวน่าสนใจ:
ระหว่างการชี้แจงนายกฤษฎา รมว.เกษตร ได้ถามถึงมาตรฐานของถนนลาดยางผสมยางพารา LMC ว่าถนนเส้นนี้สร้างตามแบบอะไร ได้รับคำตอบว่ามาตรฐานของกรมทางหลวงฯ(พิเศษ) และมีความแตกต่างอย่างไร ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ชี้แจงอึกๆอักๆตอบไม่ตรงคำถามและไม่เคลียร์ นายกฤษฎาเกิดอาการหงุดหงิด ถามหาเจ้าหน้าที่จากทางหลวงชนบทและแขวงการทางฯ แต่ไม่มีใครมาร่วมงานดังกล่าว จึงสั่งผู้ติดตามให้กดโทรศัพท์ถึงอธิบดีกรมทางหลวงชนบท และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เพื่อจะขอรายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้บรรยากาศโดยรวมเครียดทันที จากนั้นก็คว้าไมโครโฟนกล่าวกับชาวบ้านที่มาร่วมงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทราบปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกร ตอนนี้ยางพาราราคาต่ำ รัฐบาลจึงคิดหาวิธีช่วยเหลือ จึงนำมาทำเป็นถนนลาดยางผสมยางพารา ขณะนี้สั่งให้กรมทางหลวงและกระทรวงเกษตรฯ คิดสูตร การเอาน้ำยางสดมาผสมกับซีเมนต์และดินลูกรัง ประมาณสัปดาห์หน้าก็จะได้สูตรมาให้ ผวจ.นครพนม ขออดทนอีกนิดเดียว แล้วก็ออกจากเต็นท์ไปเดินตรวจการสร้างถนนประมาณ 30 นาที ก่อนขึ้นรถยนต์เดินทางกลับ
จังหวัดนครพนมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2562 จะใช้งบประมาณในการทำถนนจากยางพารา 276 ล้านบาท ใช้ยางพาราประมาณ 1,193 ตัน สร้างถนนทั้งหมด 40 แห่ง แบ่งเป็นพาราซอยซีเมนต์ 35 สาย พาราแอสฟัลติกคอนกรีต 5 สาย ซึ่งการสร้างถนนพาราซอยซีเมนต์เป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากโครงสร้างถนนผิวทางจะใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนผสมประมาณกิโลเมตรละ 12 ตัน สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยบุ่งหมากโมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ทำถนนยางพารา 2 สาย โดยทำการปรับปรุงเส้นทาง ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 1,450 เมตร หนา 15 ซม. งบประมาณกว่า 4 ล้านบาท ใช้น้ำยางพาราข้น 11,832 ลิตร หรือ 2.04 ลิตรต่อตารางเมตร
ทั้งนี้จังหวัดนครพนม จึงได้เตรียมพร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้น้ำยางพาราข้นมาเป็นส่วนผสมในการทำถนนยางพารา โดยกำหนดการใช้น้ำยางพาราที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดนครพนม เช่น ในอำเภอเมืองนครพนม, บ้านแพง, ศรีสงคราม และท่าอุเทน ฉะนั้นการลงพื้นที่ของ รมว.เกษตรฯ ครั้งนี้ จึงต้องการความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: