สมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีนำเสนอปัญหาที่สำคัญคือ การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาช้างป่า การส่งเสริมพลังงานทดแทน การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปประกอบการดำเนินงานตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา
(วันที่ 15 กันยายน 2565) ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง นำโดย พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ประธานกรรมการ พร้อมด้วยคณะสมาชิกวุฒิสภา และคณะอนุกรรมการด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ ลงพื้นที่พบปะส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนชุมชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภารกิจของวุฒิสภา ตลอดจนนำเสนอกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือประเด็นที่น่าสนใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาช้างป่า โครงการส่งเสริมพลังงานทดแทน การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และแนวทางการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดย กอ.รมน. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ คณะสมาชิกวุฒิสภา จะนำข้อมูลข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ไปสู่การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป
โอกาสนี้ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง ร่วมกับ คณะอนุกรรมการด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ มอบถุงยังชีพเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 30 ครัวเรือน
พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พัฒนากฎหมายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ และสะท้อนข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะไปสู่การแก้ไขด้วยกลไกของวุฒิสภา
สำหรับการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในครั้งนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้นำเสนอข้อมูลและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ
เรื่องที่ 1 การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะแบ่งเป็นที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการ ส่วนต่อมาคือ ที่ดินทำกินของสหกรณ์ฯพบว่าทางจังหวัดฯได้ดำเนินการไปแล้ว และส่วนที่ดินทำกินในส่วนของธนารักษ์ ซึ่งเป็นเขตปลอดภัยทางทหาร ซึ่งยังไม่ได้ข้อตกลงที่ชัดเจน ตอนนี้จะต้องสรุปพิกัดให้ชัดเจน ในส่วนที่เป็นเขตชุมชุม บ้านเรือนประชาชน วัด โรงเรียนพื้นที่การเกษตร ก็น่าจะต้องอยู่นอกเขตการฝึก จะต้องทำความตกลงกัน ซึ่งน่าจะคลี่คลายได้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการมายัง กระทรวงมหาดไทย กลาโหม ให้ประสานงานกัน ซึ่งวุฒิสภาจะเข้าไปติดตามต่อไป
เรื่องที่ 2 แนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาช้างป่า โดยเฉพาะปัญหาในพื้นที่ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งทราบว่าได้มีการจัดทำข้อกำหนด กฎเกณฑ์ ข้อบัญญัติ ในการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ซึ่ง กลไกของวุฒิสภาสามารถผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมได้
และเรื่องที่ 3 คือการส่งเสริมพลังงานทดแทนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ .ชีวมวล และก๊าช ซึ่งในแต่ละจังหวัดสามารถทำโครงการของงบประมาณพลังงานทดแทนจากกระทรวงพลังงานได้ ซึ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็สามารถทำโครงการของงบประมาณเข้าไปได้ เพื่อผปลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีหลายพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรืออยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติที่ยังไม่มีไฟฟ้า ก็สามารถทำโครงการเสนอเข้าไปได้
จากนั้น คณะสมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้าน ณ บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่กลุ่มชาวบ้านชุมชนประมงพื้นบ้านในเขตพื้นที่อำเภอหัวหิน เพื่อลดภาระค่าครองชีพในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 จำนวน 20 ครัวเรือน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: