กรุงเทพฯ – กทม. คาด ถ้าฝนไม่ตกอีก 2-3 วัน เขตบางเขนจะเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนเขตลาดกระบัง ขอเวลา 7 วัน เตรียมประกาศ 6 แขวง ของเขตลาดกระบัง เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือประชาชน
วันที่ 15 กันยายน 2565 ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ หลังเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งมีเขตที่ได้รับผลกระทบ อาทิ เขตบางเขน หลักสี่ ดอนเมือง โดยได้บูรณาการร่วมกับ สำนักการระบายน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำในถนนสายหลัก สายรอง และซอยย่อยในพื้นที่
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก เขตที่ได้รับผลกระทบ อาทิ เขตลาดกระบัง ประเวศ หนองจอก การระบายน้ำจะแบ่งออกเป็น ด้านตะวันออก โดยสถานีสูบน้ำคลองแสนแสบและสถานีสูบน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทราลงสู่แม่น้ำบางปะกง ด้านใต้ระบายออกผ่านจังหวัดสมุทรปราการ ตามแนวคลองลาดกระบัง คลองหนองงูเห่า คลองจรเข้ใหญ่ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ลงสู่สถานีสูบน้ำของกรมชลประทานออกสู่อ่าวไทย และบางส่วนจะระบายเข้าสู่พื้นที่ กทม.ชั้นใน ผ่านคลองแสนแสบเข้าสู่อุโมงค์พระรามเก้า และคลองประเวศบุรีรมย์ ต่อเนื่องคลองพระโขนง เข้าสู่สถานีสูบน้ำพระโขนง เพื่อสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ระบายน้ำ ต้องคิดถึงคนจังหวัดข้างเคียง
ปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ มีปริมาณน้ำในพื้นที่มาก เนื่องจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้การระบายน้ำจากพื้นที่ กทม.ออกไปทางด้านตะวันออกและด้านใต้ทำได้น้อย การระบายน้ำออกไปจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดข้างเคียง กทม.จึงจำเป็นต้องลำเลียงน้ำเข้ามาในพื้นที่ กทม.ชั้นใน ผ่านคลองแสนแสบและคลองพระโขนง ซึ่งมีระยะทางไกล และทั้ง 2 คลองยังต้องระบายน้ำในพื้นที่ กทม.ชั้นในด้วย ทำให้การระบายน้ำในพื้นที่ตะวันออกนอกคันกั้นน้ำพระราชดำริ ต้องใช้เวลา ขณะนี้ได้ประสานกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งสูบน้ำผ่านด้านตะวันออกและด้านใต้
ข่าวน่าสนใจ:
- ททท. จัดแคมเปญ "แอ่วเหนือ...คนละครึ่ง" มอบส่วนลด 50% ลงทะเบียนก่อนรับสิทธิ์ก่อน
- “เหนือพร้อม…เที่ยว” Kick off แคมเปญ “แอ่วเหนือ…คนละครึ่ง”
- ททท. ผนึกพันธมิตร จัดงาน "เหนือพร้อม..เที่ยว" Kick off แคมเปญ "แอ่วเหนือ...คนละครึ่ง" เริ่ม 1 พ.ย.นี้
- KCC จัดงาน "เทศกาลซอฟต์พาวเวอร์ไทย-เกาหลี" คร้ังแรกที่กรุงเทพฯ ผสานศิลปวัฒนธรรมสองประเทศ
บางเขน 3 วัน ลาดกระบัง 7 วัน กลับสู่ภาวะปกติ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำท่วม แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง เขตบางเขน น้ำสูงสุดที่คลองเปรมประชากร 1.56 เมตร ปัจจุบันเหลือ 1 เมตรแล้ว ขณะนี้ในเขตบางเขนตามซอยต่าง ๆ ลดลงเกือบหมดแล้วเช่นกัน คาดว่าถ้าฝนไม่ตกอีก 2-3 วัน จะเข้าสู่สภาวะปกติ
ส่วนที่ 2 คือ เขตลาดกระบัง เขตประเวศ เขตหนองจอก สถานการณ์น้ำลดลงไปประมาณ 50 เซนติเมตร อยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น และเมื่อวานนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายขัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เขตหนองจอก และทำให้เห็นว่าระดับน้ำเริ่มลดระดับ และผู้ว่าฯ กทม. ได้ขอให้ กอนช. ทำทางด่วนน้ำ ตัดไปออกแปดริ้ว รวมถึงตัดสินใจเปิดประตูน้ำลาดกระบัง และกระทุ่มเสือปลา ทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าไม่เกิน 7 วัน ถ้าฝนไม่ตกเพิ่ม น้ำจะลดลงทั้งหมด สถานการณ์น้ำบริเวณรอบนอกน่าจะดีขึ้น
ส่วนพื้นที่ฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 17 เขต ได้ให้เขตที่มีพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมเฝ้าระวังไว้ก่อน
เตรียมประกาศ ‘พื้นที่ภัยพิบัติ’ เพื่อช่วยเหลือตามเกณฑ์
ด้าน ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการช่วยเหลือประชาชนว่า ได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จัดรถบริการรับ-ส่งประชาชน แจกจ่ายอาหารสำเร็จรูป ถุงยังชีพ การช่วยเหลือครอบครัวกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตียง แจกชุดยาทาน้ำกัดเท้าและยาสามัญประจำบ้าน จัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบภัย ติดตั้งห้องน้ำชั่วคราว ฯลฯ
ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อว่า เพื่อร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหา โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมนี้ กทม.เตรียมออกประกาศ ‘เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย’ แต่ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล เพราะเป็นการประกาศเพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือเยียวยา ตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ
โดยมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ดังนี้
1.น้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลัน ทำให้โครงสร้างบ้านเรือนได้รับความเสียหาย
2.บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และโครงสร้างบ้านได้รับความเสียหายไม่สามารถพักอาศัยได้
3.ต้องเป็นบ้านพักที่อยู่อาศัยประจำ และต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่ทางสำนักงานเขตออกให้เป็นหลักฐาน ได้แก่ 1.บ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน 2.บ้านเช่า ผู้เช่าเป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ ในกรณีที่บ้านพักอาศัย/บ้านเช่ามีหลายชั้น ให้ได้รับเงินช่วยเหลือเฉพาะชั้นที่มีน้ำท่วมถึงเท่านั้น และ 3. ที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ของประสบภัย เช่น บ้านพักอาศัยอยู่เป็นประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน
สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่จะประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย มีทั้งหมด 6 แขวงของเขตลาดกระบัง ประกอบด้วย แขวงลาดกระบัง คลองสองต้นนุ่น คลองสามประเวศ ขุมทอง ทับยาว และแขวงลำปลาทิว ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย 10,300 หลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 20,767คน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,322ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 800ไร่ สวนผักและผลไม้ 22ไร่ และบ่อปลาอีก 500ไร่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: