X

บันทึก 1 วัน เมื่อ… ต้องกลับมาอยู่บ้านที่ ‘แม่เมาะ’

ผมเป็นคนหนึ่งที่เกิดและโตใน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง แต่เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าเรียนมัธยม แม่ก็ให้ผมไปเรียนในตัวเมืองและพักอาศัยอยู่กับญาติในเมือง จะได้กลับมาบ้านเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และช่วงที่ไม่มีเรียนพิเศษเท่านั้น พอเรียนจบสอบเข้ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ได้ ผมก็กลายเป็นคนกรุง และเมื่อเรียนจบ ก็เป็นช่วงเวลาที่ต้องค้นหาตัวเองว่าอยากทำงานอะไร หรืออยากเป็นอะไร  ออ…ตอนนี้ผมว่างงานอยู่ครับ เพราะใจที่รู้สึกเคว้งคว้างเล็กน้อย บวกกับความคิดถึงบ้าน และคิดถึงแม่ที่อยู่เพียงตัวคนเดียว เลยได้ย้ายตัวเองกลับมาตั้งหลักที่บ้านก่อน ผมคิดว่าพออยู่ไปสักพัก ผมอาจจะรู้ก็ได้ว่า จริง ๆ แล้วผมอยากทำงานอะไรกันแน่

ด้วยความที่ผมไม่ได้กลับบ้านมานาน แม้จะมีโอกาสกลับมาในช่วงปิดเทอมบ้าง แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ได้มาสัมผัสบรรยากาศหรือวิถีชีวิตละแวกบ้านเกิดเท่าไหร่นัก เลยขอใช้ช่วงเวลานี้สัมผัสกับแม่เมาะอย่างจริง ๆ จัง ๆ  พรุ่งนี้ แม่ผู้น่ารักของผม ขออาสาเป็นไกด์ทัวร์พาผมท่องเที่ยวลัดเลาะทั่วละแวกหมู่บ้านสบป้าดของผม 1 วันเต็ม ๆ เลย  ผมเลยอยากจะมาเล่าให้ทุกคนฟังผ่านไดอารี่ส่วนตัวของผมครับ

04.30 น.
แม่ของผมมักจะตื่นเช้าขึ้นมาเตรียมตัวไปตลาดเพื่อซื้อของมาทำอาหาร กับพวกผลไม้และดอกไม้ เตรียมใส่บาตรตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางทุกวัน ช่วงนี้เข้าพรรษา ฝนตกแทบทุกวัน หลวงพ่อท่านอาจจะไม่สะดวกออกบิณฑบาต พวกเราเลยจะไปถวายอาหารที่วัดแทน และแม่อยากพาผมไปรู้จักกับเจ้าอาวาสวัดสบป้าดด้วย  แต่เดิม คือ พระครูสุนทรปัญญาคุณ หรือ ครูบาอินก๋วน ท่านมรณภาพแล้วสิริอายุ 90 ปี (70 พรรษา) ท่านเป็นพระเกจิที่มีลูกศิษย์และญาติโยมทั้งในลำปางและต่างจังหวัด เลื่อมใสศรัทธา

ดีที่เดี๋ยวนี้แถวบ้านเรามีไฟฟ้าใช้กันอย่างสะดวกสบายแล้ว ทำให้นึกได้ว่า ที่แม่เมาะมีแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือ โรงไฟฟ้าแม่เมาะของ การไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ที่ส่งกระแสไฟฟ้าหล่อเลี้ยงทั่วภาคเหนือ และภาคใกล้เคียง มาตั้งแต่ผมยังไม่เกิดด้วยซ้ำ และยังมีเหมืองถ่านลิกไนต์ ที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะ นำไปผลิตไฟฟ้าด้วย

05.00 น.
ปกติผมก็ไม่ใช่คนตื่นเช้า แต่เมื่อมาอยู่บ้าน รวมกับความตื่นเต้นที่อยากไปชมรอบหมู่บ้านเร็ว ๆ เลยขอขี่มอเตอร์ไซค์พาแม่ไปตลาด และถือโอกาสสำรวจตลาดด้วยซะเลย

แม้ฟ้ายังมืดอยู่ก็จริง แต่ตลอดเส้นทางในหมู่บ้านของเรา มีถนนลาดยางอย่างดี มีไฟสว่างตลอดทาง มีสัญญาณไฟกะพริบระหว่างแยก แถมยังมีกล้องวงจรปิดติดตามจุดต่าง ๆ รอบหมู่บ้านอีกด้วย ซึ่งแม่บอกผมว่า บ้านเราโชคดีมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ. ที่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคนในพื้นที่ มาเป็นอันดับต้น ๆ หน่วยงานส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการของแม่เมาะ จึงนำเงินมาพัฒนาชุมชนติดตั้งไฟถนนอย่างทั่วถึงตลอดเส้นทาง รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดในชุมชนเพื่อช่วยเป็นหูเป็นตา สอดส่องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แถมยังสามารถเชื่อมต่อภาพจากกล้องวงจรปิดไปยังบ้านผู้นำชุมชนของแต่ละหมู่บ้านอีกด้วย

08.30 น.
กลับมาจากตลาด ผมก็มาเป็นลูกมือช่วยแม่ทำอาหาร ทำเสร็จก็รีบอาบน้ำอาบท่า กินข้าวเช้ากันให้เรียบร้อย เราสองแม่ลูกก็ออกเดินทางไปวัดกัน หลวงพ่อดูจะดีใจที่เห็นผมมาวัดกับแม่ด้วย เพราะท่านไม่ได้เจอผมตั้งแต่ผมเล็ก ๆ ที่ชอบมาวิ่งซนในวัดเป็นประจำ พอได้สนทนากับท่านอยู่พักนึง ผมจึงรู้ว่าวัดแห่งนี้ กฟผ. มีส่วนร่วมกับชุมชนสนับสนุนงบประมาณ ในการสร้าง และบูรณะปฏิสังขรณ์ เช่นเดียวกับวัดในตำบลอื่น ที่ได้รับการซ่อมแซมศาลากุฏิ ต่อเติมห้องน้ำ ฯลฯ ถือเป็นการช่วยกันดูแลรักษาศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ได้สืบสานประเพณีตามวิถีชาวพุทธ

10.00 น.
เมื่อลาหลวงพ่อแล้ว แม่ก็ไม่รอช้า พาผมไปจุดหมายปลายทางต่อไป นั่นก็คือบ้านลุงกับป้าของผมนั่นเอง ลุงกับป้าของผมดีใจมากที่หลานกลับมาอยู่ที่บ้าน เมื่อเห็นว่าผมยังว่างงานอยู่ ลุงของผมเลยเล่าให้ฟังถึงโครงการ New jobber ซึ่งเป็นโครงการที่รับเยาวชนจบใหม่ใน อ.แม่เมาะ เข้ามาทำงานกับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 1 ปี ให้เข้ามาทำงานด้านสำนักงาน ตามภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ งานโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม CSR ของหมู่บ้าน และช่วยพัฒนาระบบสารสนเทศแผนที่ทางสังคม เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ จัดทำฐานข้อมูลแบบออนไลน์ ให้คนในหมู่บ้านได้เข้าถึงและใช้งานได้ง่าย

ในอนาคต กฟผ. ก็จะได้นำข้อมูลตรงนี้ ไปพัฒนาสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ตรงกับความต้องการของชุมชนได้ ผมว่าโครงการ New jobber ก็น่าสนใจดี ทำให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ ของชุมชน ถูกเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบ ง่ายต่อการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ใช้งาน คุยกันอยู่นาน ฝนก็เริ่มลงเม็ด ลุงกับป้าเลยชวนพวกเรากินข้าวเที่ยงที่บ้านซะเลย

12.00 น.
ลุงกับป้าบอกว่า ผมกลับมาทั้งทีเลยขอทำอาหารพื้นเมืองเลี้ยงต้อนรับหลานซะหน่อย เมนูเด็ดทั้งนั้น ทั้งลาบคั่ว แกงอ่อม น้ำพริกหนุ่ม ขาดไม่ได้ก็แคบหมูนี่แหละของโปรดผมเลย ตบท้ายด้วยขนมแตงไทยอีกชุดใหญ่ สมใจผมเลยครับ

เรากินไปคุยไประหว่างฝนตกหนัก ลุงกับป้าก็เล่าให้ฟังถึงปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ที่เห็นตามหน้าข่าวเป็นประจำทุกปี สาเหตุหลัก ๆ มาจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรของชาวสวนชาวไร่ เพราะเป็นวิธีที่ง่าย และประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีอื่น ด้วยอาชีพหลักของชาวแม่เมาะ คือ เกษตรกรรม ส่วนมากจะปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ลุงกับป้าบอกว่า กฟผ. ได้พยายามแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ตั้งแต่การเข้ามาอบรมเกษตรกร ให้นำเศษวัสดุเหลือทิ้งพวกนี้ไปทำปุ๋ยหมักอย่างมีคุณภาพ แล้ว กฟผ. ได้รับซื้อปุ๋ยหมักทั้งหมดจากเกษตรกรอีกด้วย

ตอนนี้ กฟผ. มีโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ได้ประกาศรับซื้อเศษเปลือก ต้น ตอ ซัง ข้าวโพด จากเกษตรกร ต.จางเหนือ ในราคาตันละ 420 บาท เพื่อนำไปแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่ง ไปเผาร่วมกับถ่านลิกไนต์ เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  ปีนี้ ก็เห็นว่าประกาศรับซื้ออีกรวม 1,000 ตัน ตอนนี้มีเกษตรกรขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากข้าวโพดให้ กฟผ. แล้วจำนวนมาก ชุมชนก็มีรายได้เพิ่มขึ้น ที่สำคัญ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในแม่เมาะก็ลดลงอีกด้วย

14.30 น.
เมื่อท้องอิ่ม และฝนก็หยุดตกพอดี ได้เวลาบอกลาลุงกับป้า เพื่อไปยังจุดหมายต่อไปแล้ว ไกด์ทัวร์ประจำวันนี้ของผม พาผมไปลัดเลาะตามซอยในหมู่บ้าน แวะหาเจ้าของวิสาหกิจกลุ่มฮิวมัสปรับปรุงบำรุงดินบ้านเมาะหลวง ที่แม่เป็นสมาชิกอยู่ ผมได้เจอกับพี่น้ำอ้อย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พี่น้ำอ้อยเป็นคนคุยสนุกมาก แกเล่าถึงที่มาที่ไปในการก่อตั้งวิสาหกิจของแกให้ผมฟัง เดิมพี่น้ำอ้อยทำอาชีพอื่นมาก่อน แต่พอรู้ข่าวว่า กฟผ. จะขายลีโอนาร์ไดต์ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในราคาเพียงตันละ 250 บาท เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำไปต่อยอดทำวัสดุปรับปรุงดินขายสร้างรายได้ต่อชุมชน

แต่ขอเล่าก่อนว่า ลีโอนาร์ไดต์ (Leonardite) ก็คือ ชั้นดินปนถ่านที่ได้จากการทำเหมืองแม่เมาะ แต่ด้วยความที่มีดินปะปนอยู่มากเกินไป จึงไม่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ได้ และเนื่องจากมีธาตุอาหารสูง ที่สามารถนำมาปรับปรุงคุณภาพดิน เหมาะกับการปลูกพืช ซึ่งพี่น้ำอ้อยก็รู้ถึงคุณสมบัติข้อนี้เป็นอย่างดี เพราะได้ศึกษาและทดลองใช้มาก่อน เลยตัดสินใจกลับมาตั้งวิสาหกิจชุมชนที่บ้านเกิด เพราะมีความคิดถึงแม่เมาะไม่ต่างจากผม

ระหว่างเล่า พี่น้ำอ้อยก็พาผมเดินชมกระบวนการผลิตสารปรับปรุงดินไปด้วย พี่น้ำอ้อยได้เริ่มสร้างแบรนด์ของตัวเอง ในชื่อ MR.HUMUS  ในช่วงนั้น กฟผ. ได้เข้ามาช่วยแนะนำ อบรมให้ความรู้ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษาเพิ่มด้วยตัวเอง จนเข้าปีที่ 4 MR.HUMUS ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีลูกค้าขาประจำ ซึ่งพี่เขาก็ได้ปรับปรุงพัฒนาสูตรสารปรับปรุงดินมาตลอด ทำให้สินค้ามีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ ลูกค้าก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย มีทั้งกลุ่มชาวสวนทุเรียน ยางพารา และชาวสวนลำไยจากทั่วประเทศ ทำให้มีรายได้เข้ามาจุนเจือครอบครัวและสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจที่มีอยู่ราว 30 คน ซึ่งเป็นคนในแม่เมาะทั้งหมด รวมถึงแม่ของผมด้วย

ถึงแม้จะมีรายได้เข้ามามากขึ้น แต่เป้าหมายหลักของพี่น้ำอ้อย ไม่ได้ต้องการแสวงหาผลกำไร แค่อยากจะสนับสนุนการจ้างงานคนในท้องถิ่น ไม่ต้องอพยพไปหางานที่ไหนไกลบ้าน เพราะที่นี่ก็คือบ้านเกิดของพี่น้ำอ้อยเช่นกัน จึงอยากส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับสมาชิกและกลุ่มเกษตรกรในบ้านของเรา

กำลังฟังพี่น้ำอ้อยเพลินเลย เผลอแป๊บเดียวก็เย็นแล้ว ได้เวลากลับบ้านไปทำอาหารเย็นได้แล้ว

21.30 น.
ก่อนผมจะเข้านอน ผมมานั่งคิดทบทวนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ไปสัมผัสมาใน 1 วันนี้ แม้จะเพียงเวลาสั้น ๆ แค่วันเดียว ผมก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาด้านต่าง ๆ ในบ้านเกิดของผม ที่ต่างจากแต่ก่อนมาก ได้เห็นสาธารณูปโภคพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ที่ได้อำนวยความสะดวกให้กับคนในชุมชนอย่างครบครัน ผู้คนมีอาชีพ มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็ล้วนมาจากทุกคนในชุมชน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กฟผ. ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกันพัฒนาบ้านของเราให้เป็นบ้านที่อบอุ่นอยู่เสมอ

แต่ผมก็แอบกังวลว่าในอนาคต ถ้าถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะลดลง หรือ กฟผ. ต้องยุติการผลิตไฟฟ้าไป เราจะปรับตัวกันอย่างไร แต่อย่างน้อยในวันนี้ ยังมีโอกาสในการพัฒนาชุมชน ผมอยากเห็นโครงการหรืองบประมาณที่ชุมชนนำมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ผมว่า ผมเริ่มมองเห็นหนทางชีวิตของผมราง ๆ แล้วล่ะครับ… แค่ 1 วันที่แม่เมาะ ทำให้ผมรู้จักบ้านเกิดของผมได้มากขึ้นกว่าทุกๆครั้ง คืนนั้น ผมฝันเห็นตัวเองเป็น New jobber เดินลัดเลาะสำรวจข้อมูลชุมชน ค่อย ๆ ทำความรู้จักการดำเนินชีวิตของลุง ป้า น้า อาของผม ให้มากขึ้น ด้วยหวังว่าเมื่อผมเรียนรู้ทุกอย่างจนเข้าใจดีแล้ว ผมจะใช้ความรู้ที่ร่ำเรียน กลับมาพัฒนาบ้านเกิด กลับมาอยู่ใกล้ ๆ คนที่รักและดูแลผมมาทั้งชีวิต ผมรู้สึกว่ามันเป็นฝันดีกว่าทุก ๆ ครั้ง เพราะผมได้เห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ที่นี่พัฒนายิ่งขึ้น ก็อยู่ที่ไหนไม่สุขใจเท่าบ้านเรานี่ครับ…   

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"