พังงา-ลูกเหนาหรือลูกชก ไม้ผลพื้นถิ่นหากินยาก 25ปีถึงมีลูก ก่อนจะยืนต้นตายเอง
ที่กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านคลองบ่อแสน ต.บ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงา อาจารย์นิติพงษ์ ทนน้ำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมการผลิตลูกเหนา หรือลูกชก ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของดีประจำถิ่นของจังหวัดพังงา ซึ่งนิยมนำมาทำเป็นเมนูลูกชกลอยแก้ว เป็นของหวานที่ได้รับความชื่นชอบทั้งคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไป-มาในพื้นที่อำเภอทับปุดและอำเภอเมืองพังงา โดยมี นายสราวุฒิ กะมินสิน ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านคลองบ่อแสน และนายจำนง หอมหวน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านคลองบ่อแสน นำไปดูขั้นตอนการผลิตที่เริ่มต้นตั้งแก่การปีนไปตัดลูกเหนาที่ได้ขนาดกำลังดีไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป ตัดเป็นช่อๆออกจากทะลาย แล้วผูกเชือกหย่อนลงมาให้คนรับด้านล่าง เมื่อได้ตามจำนวนนวนแล้วก็จะตัดแบ่งเป็นท่อนๆใส่ในกระทะใบบัวต้มประมาณ2-3ชั่วโมง วางไว้ให้เย็น แกะลูกเหนาออกจากช่อ และนำไปตัดหัว แล้วใช้ไม้แคะเนื้อออกมาซึ่งแต่ละผลจะมี 3 เมล็ด จากนั้นก็จะนำไปล้างให้สะอาด ก่อนจะนำไปแปรรูปต่อเป็นลูกชกลอยแก้ว และสามารถนำไปทำได้อีกหลายเมนูทั้งคาวหวาน
นายจำนง หอมหวน ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า บ้านคลองบ่อแสนถือได้ว่าเป็นถิ่นกำเนิดของต้นเหนา บรรพบุรุษ ได้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นเหนามานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลเหนาสด น้ำตาลเหนาแดง น้ำตาลแว่น และลูกเหนา หรือลูกชก และปัจจุบันมีคนสืบทอดการทำอาชีพแปรรูปลูกเหนาน้อยลง เพราะมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากใช้เวลานาน สำหรับ”ต้นเหนา” หรือ “ต้นชก” ต้นไม้ตระกูลปาล์มที่พบในท้องถิ่น จ. พังงาและใกล้เคียง ชอบขึ้นตามแนวภูเขาหิน มีลำต้นตรง โตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าต้นตาล สูงประมาณ 20-25 เมตร ใบยาวประมาณ 3 เมตร คล้ายใบมะพร้าวแต่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า ก้านใบ ทางใบเหยียดตรงกว่ามะพร้าว มีรกสีดำตามกาบใบหนาแน่น ต้นเหนาแต่ละต้นใช้เวลาถึง 25 ปี ถึงจะสามารถให้คนเก็บลูกเหนา หรือ ลูกชก ไปกินได้ เรียกว่า “ปลูกรุ่นพ่อ ได้กินรุ่นลูก” และหลังจากเริ่มเป็นลูกแล้ว ก็ต้องใช้เวลารออีกประมาณ 2 ปี จึงจะเริ่มตัดลูกเหนามาแปรรูปได้ จากนั้นเมื่อทยอยเก็บลูกหมดต้น มันก็จะยืนต้นตายเอง
ด้านอาจารย์นิติพงษ์ ทนน้ำ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้จัดโครงการการพัฒนาสื่อวีดิทัศน์เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยได้มีการศึกษารูปแบบการนำเสนอและการเขียนบทเพื่อสร้างความเข้าใจ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ ประสานความร่วมมือกับชุมชน และถ่ายทำวีดีทัศน์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เผยแพร่ทางช่องทางระดับจังหวัดขึ้นไป ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ให้สื่อการเรียนรู้นี้เป็นสื่อที่ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้และนำไปต่อยอดกับการใช้ชีวิตหรือธุรกิจของตนเองได้ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นนี้สู่คนรุ่นหลังต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: