กรุงเทพฯ : ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินหน้าสร้างกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ เตรียมดึงคนเก่งกลับเข้ามาพัฒนาเมือง สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
วันที่ 23 กันยายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปาฐกถาต่อสมาชิกสโมสโรตารีกรุงเทพฯใต้ ถึงศักยภาพของกรุงเทพฯในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ ในหัวข้อ From Policy to Execution ตอนหนึ่งว่า จุดแข็งของกรุงเทพฯ คือ เป็นเมืองที่สร้างจีดีพีของประเทศ มีค่าครองชีพที่สู้กับประเทศอื่นได้ ใคร ๆ ก็อยากมากรุงเทพฯ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีวัฒนธรรมสวยงาม เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 98 แสดงให้เห็นว่าคนแค่อยากมาท่องเที่ยว ไม่มาอยู่นาน
ซึ่งประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน ความไม่เชื่อใจกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การทำธุรกิจในประเทศไทยทำได้ลำบาก อีกทั้งคนไทยพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยเก่ง และไม่สามารถดึงดูดคนเก่งให้อยู่ในประเทศได้ แนวทางที่จะดำเนินการ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว สุขภาพอนามัย อัญมณี ธุรกิจไมซ์ (MICE) โดยดึงดูดให้มีการลงทุนจากต่างชาติ
อีกทั้งต้องดึงดูดคนเก่งให้มาทำงานอยู่ในประเทศไทยไม่ไปอยู่ต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์มีการอนุญาตให้คนเก่งสามารถเข้ามาอยู่ในประเทศได้เลยโดยไม่ต้องใช้วีซ่า และยังไม่ต้องมีงานทำก็ได้ ที่ญี่ปุ่นและอังกฤษก็เหมือนกัน
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 พื้นที่สีเขียวที่ใช้ได้จริงมีไม่มากเพราะบางส่วนเป็นเรื่องของการทำเกษตรกรรม รวมถึงปัญหาเส้นเลือดฝอยเป็นสิ่งที่ต้องดูแลพอ ๆ กับเส้นเลือดใหญ่ เช่น มีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่คนยังต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์หรือรถตู้กลับบ้านเพราะรถไฟฟ้าไปไม่ถึง มีโรงเผาขยะขนาดใหญ่แต่การขนขยะจากต้นทางให้ทั่วถึงยังทำได้ลำบาก มีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แต่ยังต้องมีคนลงไปเก็บขยะหน้าตะแกรงระบายน้ำ ศูนย์บริการสาธารณสุขหรืออนามัยมียาไว้บริการไม่มากและไม่หลากหลาย มีมหาวิทยาลัยดี ๆ แต่การดูแลเด็กเล็กยังไม่ดี
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ตั้งใจทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งได้ดึงเอาแนวทางจาก The Economist Intelligence Unit ที่จัดอันดับเมืองท่องเที่ยวและเมืองน่าอยู่ มาทำเป็นนโยบาย 9 ด้าน และแผนปฏิบัติการ โดยได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ผู้ว่าฯสัญจร ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชน จุดบริการจุดเดียวจบ แพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ เป็นต้น สำหรับงานที่ทำคือการบริหารจัดการเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และความหวัง ในระบอบประชาธิปไตย ได้เน้นความร่วมมือกับ 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ การศึกษา เอกชน และประชาชน โดยมุ่งหวังอยากเจียระไนกรุงเทพฯ ให้เป็นเพชรเม็ดงาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: