กรุงเทพฯ – รัฐบาลประสานทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งเตรียมความพร้อมรับมือ พายุ ‘โนรู’ และ ‘มรสุมตะวันตกเฉียงใต้’ ที่จะมีกำลังแรงขึ้น พร้อมวาง 5 แนวทางเผชิญเหตุ และให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
วันที่ 27 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่น ‘โนรู (NORU)’ ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในวันที่ 28-29 กันยายน 2565 และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น โดยได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แนวทางการระบายน้ำ และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ดังนี้
กระทรวงมหาดไทย
เตรียมความพร้อม กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด รับมือผลกระทบพายุโนรู โดยวาง 5 แนวทางแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ได้แก่
1.จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ติดตามสถานการณ์พายุโนรู ประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่
2.ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย เตรียมความพร้อมในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
3.เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ให้จัดชุดปฏิบัติการเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
4.หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ให้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้โดยทันที และ
5.สำหรับจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย และเกิดขึ้นต่อเนื่อง ให้จัดตั้งศูนย์พักพิงและวางแผนบริหารจัดการ เพื่อรองรับการอพยพของประชาชนอย่างเป็นระบบ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เร่งเตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุปฏิบัติการช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เข้าช่วยเหลือด้านต่าง ๆ อาทิ ช่วยเหลือรถเสียจากน้ำท่วม กีดขวางการจราจร จัดการจราจรหลีกเลี่ยงเส้นทางน้ำท่วม อำนวยความสะดวกเส้นทางสัญจร และชุดสายตรวจคอยป้องกันเหตุอาชญากรรมไม่ให้คนร้ายมาฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อน รวมทั้งติดตามข่าวสาร เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนหากมีสภาวะฉุกเฉิน โดยหากอุทยานใด มีความสุ่มเสี่ยงต่อการจะเกิดอุบัติเหตุ ขอให้ปิดตัว เพื่อดูแล ป้องกันเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
ข่าวน่าสนใจ:
- ศึกษาธิการระยอง จับมือเทคนิคระยอง และศูนย์การค้าเซ็นทรัลระยอง จัดกิจกรรมโครงการเรียนดี มีความสุขสู่อนาคตที่สดใส
- มุกดาหาร -เลขาธิการ ป.ป.ส. ควงแม่ทัพภาค 2 ลงเรือตรวจสกัดกั้นการนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดนไทย-ลาว จ.มุกดาหาร
- เปิดรับสมัคร นายก และสมาชิก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ วันแรกคึกคัก
- บ้านใหญ่พรรคเพื่อไทยเชียงราย เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.พร้อมกับนำทีมผู้สมัคร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)
เตรียมแผนการรับมือและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม พร้อมทั้งเดินหน้าแผนรับน้ำเข้าทุ่งรับน้ำทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยดำเนินการจัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในแต่ละทุ่งรับน้ำ เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำ เกณฑ์การรับน้ำเข้าทุ่ง ระบบการปลูกข้าวเหลื่อมเวลา มาตรการส่งเสริมการดำรงชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่รับน้ำ และการให้ความช่วยเหลือและการชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ด้วย
“รัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์พายุโนรูและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-1 ต.ค.65 สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน โดยรัฐบาลได้ประสานงานให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง และหากมีความจำเป็นได้เตรียมความพร้อมในแผนการอพยพประชาชนไว้ล่วงหน้า รวมถึงสัตว์เลี้ยง ยานพาหนะและทรัพย์สินมีค่าอื่นๆด้วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารตามช่องทางหลัก และหากต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งได้ที่หมายเลข 191 และ 1599 หรือสายด่วนนิรภัย โทร.1784 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง” นายอนุชา กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: