นายไพวัลย์ ต้นใหญ่ เกษตรกรบ้านนาหลวง ตำบลท่าค้อ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำหรับโคก หนอง นา ที่ตัวเองทำอยู่นี้ เริ่มแรกต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินใหม่ เนื่องจากดินไม่ค่อยมีแร่ธาตุ ซึ่งพอเข้าปีที่ 2 ก็เริ่มได้ผลผลิตที่มากขึ้น เนื่องจากไปอบรมการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพมา ก็นำมาใช้กับแปลงเกษตร โดยผลผลิตที่ได้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลา ข่า ตะไคร้ กล้วย และพืชชนิดอื่น ๆ สำหรับการเลี้ยงปลานั้นจะเลี้ยงไว้ประมาณ 2,000 – 3,000 ตัว ก็ทยอยจับขายไปเรื่อย ๆ
แต่ที่ดีใจมากที่สุดคือสามารถแบ่งปันต้นพันธุ์ ของพืชที่เกิดขึ้นมาให้กับเพื่อนบ้านเอาไปปลูก จนปัจจุบันมีประมาณ 30 ครัวเรือนที่ทำแบบนี้ ซึ่งแต่ก่อนพื้นที่หัวไร่ปลายนาแถวนี้ไม่ค่อยมีคนอยากออกมาอยู่ แต่พอมาทำการเกษตรก็ออกมานอนเฝ้า มาดูแล ทำให้เป็นการขยายเครือข่ายออกไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันตนเองก็พยายามที่จะไปเรียนรู้จากเพื่อนเกษตรกรด้วยกันที่ทำ โคก หนอง นา เป็นการไปขอคำแนะนำ เทคนิค วิธีการ ว่าควรทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูงสุด ต่างคนต่างแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกันในทุกๆ เรื่อง ทำให้สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาแปลงเกษตรของเรา เช่น การเลี้ยงปลาที่ใช้เวลาน้อยแต่ได้ปลาที่ตัวใหญ่ เราก็ต้องมีการตรวจคุณภาพน้ำ การดูแลเรื่องอาหาร ซึ่งแต่ก่อนจะไม่รู้เรื่องพวกนี้ ปัจจุบันกลุ่มที่ทำ โคก หนอง นา ในพื้นที่ใกล้เคียงกับตัวเอง จะมีอยู่ประมาณ 4 แห่ง ก็จะใช้วิธีรวมกันทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ แล้วแบ่งกันใช้ ซึ่งขั้นตอนการทำก็เหมือนที่ได้ไปอบรมมา แต่ก็จะนำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมา มาปรับปรุงสูตรปุ๋ยของตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ เพราะดินแต่ลแปลงจะมีแร่ธาตุไม่เหมือนกัน ถ้าเรานำดินไปตรวจว่ารู้ว่าควรเพิ่มสารอะไรในดิน จะทำให้ดินมีแร่ธาตุที่สมบูรณ์ ต้นไม้ที่ปลูกจะเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่
สำหรับการปลูกพืชตัวเองจะเน้นไม่ปลูกเยอะ แต่ให้มีความหลากหลายของชนิด เพราะอยากให้มีทุกอย่างอยู่ในแปลง โคก หนอง นา ทำให้เรามีพออยู่พอกิน เหลือก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน เวลามีงานบุญในหมู่บ้านก็สามารถนำผลผลิตจากแปลงไปช่วยงานได้ ส่วนรายได้ที่เกิดจากแปลง โคก หนอง นา ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 300 บาท เช่น เมื่อวานขายพริกไป 4 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 80 บาท แค่นี้ก็อยู่ได้แล้ว โดยทุกวันนี้จะเป็นการขายแบบออนไลน์มีออเดอร์มาก็จะเก็บผลผลิตไว้รอ ซึ่งลูกค้าจะมารับถึงที่ เพราะเราขายแบบให้คนที่มาซื้อสามารถนำไปขายต่อแล้วมีกำไร พูดง่าย ๆ คือ เอาพออยู่ เพราะต้นทุนการผลิตของเราไม่สูง เราไม่ได้เน้นปุ๋ยเคมี เราเน้นการเกษตรแบบอินทรีย์ อีกทั้งปัจจุบันนี้ลูกหลานที่ไปอยู่กรุงเทพ ที่มีการขายผลผลิตทางการเกษตรไปตามร้านค้าคนไทยในต่างประเทศ ก็มีออเดอร์สั่งจองข่าแห้งเข้ามาสัปดาห์ละ 210 กิโลกรัม โดยจะมารับทุกอาทิตย์ ตอนนี้จึงต้องพยามขยายการปลูกเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะมองว่าคงมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อออเดอร์ที่สั่งมาอย่างแน่นอน นอกจากนี้ก็ยังมีการไปหาผลผลิตจากแปลงเกษตร คนที่ทำ โคก หนอง นา ด้วยกัน หรือแม้กระทั่งจากชาวบ้านที่ปลูกแต่ไม่ถึงขนาดเป็น โคก หนอง นา ก็เอาผลผลิตทุกคนมารวมกันจำหน่าย ซึ่งพอเรารวมกลุ่มกันได้ทุกคนก็มีรายได้ที่แน่นอน เกิดเป็นความยั่งยืน ที่ทำให้ทุกครอบครัวในชุมชนมีความสุข
ข่าวน่าสนใจ:
- หนุ่มวัย 21 นัดเคลียร์กับรุ่นน้องวัย 16 แต่คุยกันไม่ลงตัวเกิดชกต่อยกัน ก่อนชักมีดแทงรุ่นน้องดับ
- ตรัง ผู้ตรวจฯกระทรวงพาณิชย์ ลงตรังเยี่ยมแปลงปลูกพริกไทยตรัง-สุราชุมชน ผู้ผลิตต่อยอดสินค้า GI "พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน สู่มาตรฐาน EU organic…
- โครงการวิลล่าหรูเกาะสมุยฝืนคำสั่งรื้อถอนอาคาร ยังปล่อยให้ต่างชาติเช่าวิลล่า
- ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ แถลงผลปฏิบัติการ “พิฆาตทรชนคนค้ายาอีสานใต้” ยึดยาบ้ากว่า 400,000 เม็ด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: