กรุงเทพฯ – กระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้บาดเจ็บเด็กเล็ก 3 คน ผ่าตัดแล้วอาการดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังในห้องไอซียู กรมสุขภาพจิตวางแผนดูแลเยียวยาจิตใจ 3 ระยะต่อเนื่อง ช่วง 2 สัปดาห์นี้จนถึง 3 เดือน พบกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง 10 กว่าคน ส่งจิตแพทย์เข้าดูแลแล้ว
วันที่ 10 ตุลาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงความคืบหน้า การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์รุนแรงใน จ.หนองบัวลำภู
โดยนายอนุทิน ระบุว่า ภาพรวมผู้บาดเจ็บทั้ง 7 ราย อาการปลอดภัย พ้นขีดอันตรายแล้ว จะฟื้นฟูทั้งสภาพร่างกายและจิตใจให้อยู่ในสภาพปกติมากที่สุด จากนี้ คือ การเร่งเยียวยาจิตใจ ทั้งญาติที่อยู่ในเหตุการณ์ที่รอดจากการถูกทำร้ายหรือบาดเจ็บเล็กน้อย และญาติที่สูญเสีย มอบหมายให้กรมสุขภาพจิต ส่งทีมช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) จากโรงพยาบาลจิตเวชในภาคอีสานและส่วนกลาง ลงพื้นที่ดูแลแต่ละครอบครัวแล้ว
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 37 ราย ซึ่งส่งจากหนองบัวลำภูไปชันสูตรที่โรงพยาบาลอุดรธานี มีการวางระบบบริหารจัดการเพื่อให้มีความพร้อม ทั้งแพทย์ อุปกรณ์ และห้องชันสูตร โดยระดมแพทย์นิติเวชจากจังหวัดใกล้เคียงมาช่วยดำเนินการ และได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายฉุกเฉิน ช่วยลำเลียงร่างผู้เสียชีวิตด้วยความเรียบร้อย อย่างมีศักดิ์ศรีและเคารพต่อผู้เสียชีวิต ทำให้สามารถดำเนินการเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม 2565
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า ผู้บาดเจ็บทั้งหมด 10 ราย หายกลับบ้านแล้ว 3 ราย ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 7 ราย แยกเป็น
ข่าวน่าสนใจ:
- "เบิร์ด ธงไชย" ศิลปินแห่งชาติ ร่วมสืบสานนาฏศิลป์สยาม ชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- ขาดสภาพคล่องขั้นรุนแรง! อธิบดีกรมท่าฯ ร่อนนส.ด่วน! แจ้งบอกเลิกสัญญาทิ้งงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง 1.2 พันล.แล้ว…
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
โรงพยาบาลหนองบัวลำภู 5 ราย ได้แก่
1.เด็กชายอายุ 3 ปี ได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะนำก้อนเลือดออก ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้ว หายใจเองได้ อยู่ระหว่างการติดตามไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
2.เด็กชายอายุ 4 ปี ได้รับการผ่าตัดเปิดสมอง นำก้อนเลือดออก มีภาวะสมองบวม หลังผ่าตัดครั้งที่ 2 ภาวะสมองบวมดีขึ้น ยังต้องติดตามอาการ
3.หญิงอายุ 56 ปี ได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ นำก้อนเลือดออก อาการดีขึ้น กำลังฝึกถอดเครื่องช่วยหายใจ
4.หญิงอายุ 42 ปี บาดเจ็บในช่องท้อง ลำไส้เล็กรั่วซึม กระดูกหน้าแข้งหัก ผ่าตัดซ่อมแซมลำไส้และดามกระดูกที่หัก อาการฟื้นตัวดี
5.เด็กหญิงอายุ 12 ปี ลูกสาวผู้ป่วยรายที่ 4 อาการดี แพทย์ให้อยู่กับแม่ ซึ่งยังต้องรักษาในโรงพยาบาล เพื่อช่วยดูแลด้านจิตใจ
ส่วนที่โรงพยาบาลอุดรธานี มีผู้ป่วย 2 ราย คือ
6.เด็กอายุ 3 ปี ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ นำก้อนเลือดออก ขณะนี้ถอดเครื่องช่วยหายใจได้ อาการดีขึ้น พูดคุยได้ดี
7.ชายอายุ 21 ปี บาดเจ็บที่กระดูกสันหลังต้นคอ ผ่าตัดนำกระสุนออกแล้ว ยังใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำกายภาพบำบัดและติดตามอาการ
วางแผนดูแลเยียวยาจิตใจ 3 ระยะต่อเนื่อง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า เหตุการณ์นี้มีกลุ่มผู้รับผลกระทบทางตรง คือ ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้รอดชีวิต ญาติใกล้ชิดผู้เสียชีวิต 170 คน โดยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 60 คน ส่วนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ ประชาชนในตำบลอุทัยสวรรค์ 6,591 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กใน 2 โรงเรียนใกล้ที่เกิดเหตุ 129 คน และกลุ่มประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ ซึ่งได้วางแผนดูแลเยียวยาจิตใจเป็น 3 ระยะ คือ
1.ระยะเริ่มแรก ในช่วง 3 วันแรก จะให้การดูแลครอบครัวผู้ รับผลกระทบทางตรง 37 ครอบครัวเป็นรายบุคคลให้ครบถ้วนใน 2 สัปดาห์
2.ระยะ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป จะดูแลต่อเนื่องเกี่ยวกับบาดแผลทางจิตใจ ความเจ็บปวดและความทุกข์ที่อาจจะมีมากขึ้น โดยกระจายทีม MCATT ในพื้นที่ และติดตามเยี่ยมบ้านเชิงรุก
3.การดูแลต่อเนื่องถึง 3 เดือนหรือนานกว่านั้น โดยจะทำความเข้าใจกับพื้นที่ ให้สามารถปรับตัวและร่วมกันดูแล รายที่มีปัญหาจะส่งต่อเพื่อเฝ้าระวังต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม พบกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงกว่า 10 คน ได้ส่งจิตแพทย์เข้าดูแลแล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: