X

ผู้ว่าฯ ลำปางชวนทำสวนเกษตร เศรษฐกิจพอเพียงสร้างสมดุลแก่ครัวเรือน


นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นางสุพรรณี ฉายะบุตร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง ภริยา ร่วมกันเปิดพื้นที่หลังจวน ชวนตัวแทนเจ้าหน้าที่สมาชิก จากชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด รวมถึงจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมด้วยช่วยกันลงมือปฏิบัตินำพื้นที่ว่างที่มีอยู่อย่างจำกัด ภายในบริเวณหลังจวนผู้ว่าฯ ประมาณ 50 ตารางวา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำพากลุ่มสมาชิกฯ เจ้าหน้าที่ เข้าร่วมเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งภายในแปลงปลูกนี้จะมีพืชผักหลากหลายชนิด อาทิเช่น พริก กะเพรา คะน้า กะหล่ำปลี ผักชี ขึ้นฉ่าย มะเขือ ชะอม มะนาว มะละกอ และเชียงดา เป็นต้น


โดยนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวเผยว่า การจัดทำแปลงสวนเกษตรที่ได้ดำเนินการอยู่นี้ เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร มาขยายผลและต่อยอด สู่กิจกรรม 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้แนวคิด “ที่ว่างสร้างอาหาร”

ซึ่งในการจัดทำได้อาศัยวิธีการแบบง่ายๆ ใช้พื้นที่ว่างที่พอมีอยู่ทำการปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากการประกอบอาหารภายในครัวเรือน ซึ่งการทำสวนเศรษฐกิจพอเพียงถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม เฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทำให้พี่น้องหลายครัวเรือนต้องตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก ดังนั้นจึงอยากรณรงค์เชิญชวนให้พี่น้องประชาชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการใช้พื้นที่ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยกับเวลาว่างบางส่วน หันมาทำการปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง เพื่ออย่างน้อยจะได้ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเป็นแหล่งอาหารสำรองไว้ในช่วงวิกฤตยามต้องขาดแคลน

โดยการปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองถือเป็นความมั่นคงทางอาหาร ที่พี่น้องประชาชนสามารถสร้างขึ้นเองได้ ซึ่งหากปลูกไว้มากก็จะสามารถช่วยประหยัดค่าอาหาร และหากเหลือจากรับประทานยังสามารถที่จะนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ หรือ หากเป็นบุคคลที่พอจะพึ่งพาตนเองได้ก็สามารถนำไปแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน อันจะเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในชุมชนและช่วยให้สังคมนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน