X
น้ำท่วมอุบล เงินเยียวยา

ปภ.โอด ตกเป็นจำเลยเยียวยาน้ำท่วม ชี้กฎหมายคลังกำหนด

ชุมชนสะท้อนการเข้าถึงอย่างไม่เท่าเทียม รับปากคุยกรมส่งเสริมฯ แก้ระเบียบที่ไม่เป็นธรรม ผู้นำชุมชนติงการสำรวจแบบกระดาษล่าช้า ไม่ทันการณ์ แนะเข้าระบบออนไลน์ ปภ.ตอบคำถามยอดฮิต จ่ายเพิ่มน้ำท่วม 3 เดือน 7 พันจริงหรือไม่

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 UbonConnect จับมือ อยู่ดีมีแฮง วารินชำราบบ้านเฮา VR CableTV จัดรายการ สื่อโดยประชาชน โดยมีแนวคิดว่า วาระข่าวควรมาจากประชาชน มากกว่า บก.ไม่กี่คนที่กรุงเทพฯ

มีผู้ร่วมรายการคือ เธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , ว่าที่ร.ต.มนต์สง่า ลีลาศสง่างาม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจ.อุบลราชธานี , บรรเทิง พลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ดงห่องแห่ ต.ปทุม อ.เมือง จ.อุบลฯ , ทศพล ไกรพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านศรีไคออก ต.ศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ , สุชัย เจริญมุขยนันท ดำเนินรายการ

 

โดยผู้ใหญ่ทศพล ไกรพันธุ์ อาสาสมัครสื่อโดยประชาชน ได้เสนอประเด็น ปัญหาการชดเชยเยียวยาน้ำท่วมในปัจจุบัน มีจุดอ่อนอยู่มาก และต้องการให้ส่วนกลางมาร่วมแก้ไขกฎระเบียบที่ล่าช้าและไม่เป็นธรรม

 

เธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้กล่าวสรุปถึงการชดเชยเยียวยา ตามระเบียบในปัจจุบันว่า

การดูแลประชาชนเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่การช่วยเหลือเยียวยา เราอยู่ภายใต้กฎหมาย กฎเกณฑ์ที่กำหนด ทุกส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีงบประมาณอยู่แล้ว แต่กรณีที่เกิดภัยพิบัติจำเป็นเร่งด่วน บางครั้งเบิกจ่ายงบประมาณไม่ทัน อาจจะไม่ได้ตั้งไว้ล่วงหน้า หรือตั้งไว้ไม่พอ

เงินช่วยเหลือที่นำมาใช้ คือเงินทดรองราชการ ระเบียบฉบับนี้เป็นระเบียบกระทรวงการคลัง แต่ ปภ. หรือ จังหวัด หรืออำเภอ เป็นผู้ปฏิบัติ

ปภ.ใช้ระเบียบนี้เป็นประจำ หลายท่านจึงเข้าใจว่าเป็นระเบียบปภ. ในหลายครั้งก็จับให้ปภ.เป็นจำเลย ว่าระเบียบปภ.จ่ายน้อยบ้าง ระเบียบปภ.ไม่ทันสมัยบ้าง จึงขอทำความเข้าใจว่าเป็นระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการกำหนดการใช้กฎเกณฑ์งบประมาณ

 

ระเบียบเงินทดรอง ก็พัฒนามาหลายฉบับ ตั้งแต่ปี 2538 ฉบับปัจจุบันคือฉบับปี 2562 มีหลักเกณฑ์ซึ่งออกปี 2563 และหลักเกณฑ์การเกษตรก็ออกปี 2564

สำหรับค่าชดเชยต่าง ๆสรุปพอสังเขปได้ดังนี้
วัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำตามหลักเกณฑ์ ปี 63 หลังละไม่เกิน 49,500 บาท

เงินทุนสำหรับประกอบอาชีพในการหาเลี้ยงครอบครัว ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท
ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท กรณีผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงครอบครัว ก็จะจ่ายเป็นเงินสงเคราห์ครอบครัวอีก 1 เท่าก็คือ 29,700 บาท

ด้านสังคมสงเคราะห์
จัดอบรมส่งเสริมอาชีพระยะสั้น สำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นค่าอุปกรณ์คนละไม่เกิน 2,000 บาท ค่าตอบแทนวิทยากร ฯลฯ

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
ค่าทำความสะอาดบ่อน้ำตื้น ค่าน้ำดื่ม ค่าอาหารเสริม

ด้านการเกษตร
ด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง
ข้าวไร่ละ 1,340 บาท
พืชไร่พืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท
ไม้ผลไม้ยืนต้นไร่ละ 4,048 บาท
ปศุสัตว์ก็จะกำหนดชนิดของสัตว์แต่ละชนิด
ประมงก็จะมีประเภทของสัตว์น้ำ

ด้านบรรเทาสาธารณภัย
ซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ที่เสียหาย

ด้านปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ของเจ้าหน้าที่ ค่าน้ำมัน ฯลฯ

 

ผู้ใหญ่บ้านชี้สำรวจน้ำท่วมช้า,ไม่ทันการณ์ เสนอทำออนไลน์ตัดยอดทุก 7 วัน

นายทศพล ไกรพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านศรีไคออก ต.ศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ประสบการณ์การสำรวจชุมชน ท้องถิ่น และจังหวัดลงไปร่วมสำรวจด้วย มองว่าปัจจุบันกระบวนการสำรวจยังล่าช้า ไม่ทันการณ์ เพราะเราทำในระบบกระดาษ ต้องผ่านขั้นตอน ต้องทำรายงานเยอะ ควรนำเทคโนโลยีมาใช้

สมมติว่าเราจะไปลงสำรวจพื้นที่หลังหนึ่ง เราสามารถจะคีย์ข้อมูลเข้าระบบออนไลน์เลย จะลดภาระการทำเอกสารต่าง ๆ

และการต้องรอให้สำรวจให้หมดก่อน ค่อยรวบรวมข้อมูล แนะควรตัดรอบในรอบ 7 วัน ทุก ๆ 7 วันให้ความช่วยเหลือไป จะเอื้ออำนวยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เหมือนเราลงทะเบียบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปีนี้ใช้ระบบออนไลน์ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ เกษตรมีฟาร์มบุ้คออนไลน์ อยู่ที่ไหนคีย์ข้อมูลได้เลย

 

ปัญหาสิทธิในการรับรอง ไม่มีบ้านเลขที่ก็ไม่ได้รับการเยียวยา รองอธิบดีรับปากหารือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

บรรเทิง พลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.ดงห่องแห่ ต.ปทุม อ.เมือง จ.อุบลฯ พบปัญหาของชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยในเรื่องเดิม ๆ คือ สิทธิในการที่จะมีคนรับรองให้ เช่น อยู่ในพื้นที่รอยต่อของ 2 งานปกครอง ถ้าประชาชนตำบล ก. ไปทำงานไปสร้างบ้านอยู่ ตำบล ข. แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีบ้านเลขที่ แต่มีบ้านพักอาศัยจริง ๆ คนที่จะรับรองให้คือใคร โดยคำพูดคือผู้ใหญ่บ้านฝั่งโน้นรับรองให้ แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่มีลายลักษณ์อักษรที่จะรับรอง กลัวมีปัญหาเลยไม่รับรอง

อีกประการคือที่น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรไม่มีเอกสารสิทธิ์ ก็จะไม่ได้รับการเยียวยา

 

ด้านผู้ใหญ่ทศพล ไกรพันธุ์เสนอควรเปิดกว้างให้เจ้าหน้าที่รัฐ รับรองได้เลย ไม่ใช่แค่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ทางนายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับปากว่าจะนำเรื่องนี้หารือกับทาง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอ ให้ช่างชุมชนร่วมประเมินเสียหายน้ำท่วม ทางหัวหน้าสำนักงานปภ.จ.อุบลราชธานี ชี้แจงว่าปีนี้เริ่มมีแล้ว โดยมีวิศวกรรมสถาน ช่างไทยใจอาสา ช่างท้องถิ่นทั่วจังหวัด ร่วมมือกันตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

 

นางอัฐฌาวรรณ ได้สะท้อนปัญหามาทาง Clubhouse ว่า คนจนเข้าไม่ถึงการชดเชยน้ำท่วมที่เป็นธรรม เข้าไม่ถึงกรอบระเบียบที่มาพิจารณา จึงมีปากมีเสียง มีปัญหา ทำไมคนนั้นได้มาก คนนี้ได้น้อย มีปัญหาเกิดขึ้น

พอไปเปรียบเทียบกับคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่แบบแปลนการก่อสร้างที่ชัดเจน ก็ได้สิทธิ์การเยียวยาการชดเชยไป การพิจารณาและกฎเกณฑ์ไม่เอื้อต่อคนยากคนจน

ว่าที่ร้อยตรี มนต์สง่า ลีลาศสง่างาม ได้ชี้แจงว่า ปีนี้ มีการพัฒนาขึ้นมาก ทีมประเมินให้ประเมินตามความเสียหาย ไม่ใช่ไปยึดมาตราฐานโครงสร้างต่าง ๆ

ขอให้เป็นไปตามความเสียหายจริง ช่วยได้ ไม่เกินครัวเรือนละ 49,500 บาท ไม่ว่าจะเป็น สังกะสี เป็นกระเบื้อง หลังคาวัสดุเดิมที่เกิดความเสียหาย ประตูหน้าต่าง กระจก ไม้อะไรก็ตามแต่ที่เป็นวัสดุเดิม ก็จะประเมินตามความเสียหาย ปีนี้มีความชัดเจนแน่นอน

 

ต่อข้อถามจากผู้ดำเนินรายการว่าหากผู้ประสบภัย ไม่พอใจ การตัดสินชดเชยของคณะกรรมการ ต้องทำอย่างไร รองอธิบดีฯปภ.ตอบว่า การบริหารความพอใจก็เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากไม่พอใจจริง ๆ ก็สามารถทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดได้

 

ท้ายรายการมีคำถามจาก Super Openchat เตือนภัยพิบัติอุบลราชธานีถึง
การแชร์ข้อมูลในโลกโซเชี่ยล บ้านน้ำท่วม หนึ่งเดือนได้ 5000 สองเดือน 6000 สามเดือน 7000 จริงหรือไม่

ทางรองอธิบดีฯตอบว่า เป็นเพียงดำริของฝ่ายนโยบาย ที่จะให้มีการเยียวยา เพียงแต่จะมีการดำเนินการในอัตราเท่าไหร่ ยังไม่ชัดเจน ต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการออกมาก่อน

ฉบับเต็ม

สื่อโดยประชาชน EP.4

ชดเชย เยียวยาน้ำท่วม ปัญหาและทางออก

จากการเสนอประเด็นของผู้ใหญ่ทศพล

 

คลิปย่อย…

 

1-ผู้ใหญ่บ้านชี้สำรวจน้ำท่วมช้า,ไม่ทันการณ์ เสนอทำออนไลน์ตัดยอดทุก 7 วัน

 

2 -ไม่มีบ้านเลขที่ ไม่ได้เงินเยียวยาน้ำท่วม รองอธิบดีปภ รับปากประสานกรมส่งเสริมฯ

 

3-เสนอให้ช่างชุมชนร่วมประเมินเสียหายน้ำท่วม ปภ ชี้ปีนี้มีแล้ว (คลิปตัด)

 

4-เสื้อผ้า ที่นอน หมอนมุ้ง น้ำท่วมเสียหาย รัฐชดเชยให้ไหม?

 

5-วัดน้ำท่วม ใครจะช่วยพระ?

 

6-คนจนเข้าไม่ถึงการชดเชยน้ำท่วมที่เป็นธรรม

 

7-บ้านน้ำท่วม หนึ่งเดือนได้ 5000 สองเดือน 6000 สามเดือน 7000 จริงหรือไม่

 

8-บ้านกำลังสร้าง ยังไม่มีเลขที่บ้าน น้ำท่วม จะได้รับความช่วยเหลือมั้ย?

 

9 ไม่พอใจกรรมการในการตัดสินเยียวน้ำท่วม ทำยังไง

 

10-บ้านน้ำท่วม ไม่เสียหายทั้งหลังไม่ได้เงินชดเชย จริงหรือ?

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สุชัย เจริญมุขยนันท

สุชัย เจริญมุขยนันท

นิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หลักสูตรโปรดิวเซอร์ เนชั่น วิทยากรพิราบน้อย โครงการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยุ มูลนิธิหมอชาวบ้าน วิทยุเนชั่น ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยประจำจงอุบลราชธานี ผู้จัดการศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลราชธานี ปัจจุบัน เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้อำนวยการทีวีชุมชนอุบลราชธานี E : [email protected] F : ทีวีชุมชนอุบลราชธานี T : 0818786440 LINE : SUCHAINEWS