กรุงเทพฯ – กทม. ร่วมเครือข่าย เตรียมตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม ประสานงานทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ป้องกันการถูกหลอกลวง และเอารัดเอาเปรียบ
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวตอนหนึ่ง ระหว่างเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565 ว่า ช่วงปลายปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากรุงเทพมหานครจำนวนมาก และจะมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมากมาย ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เพื่อเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวและป้องกันการเกิดโศกนาฏกรรมอย่างที่ อิแทวอน สาธารณรัฐเกาหลี กทม.จึงเตรียมพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว
โดยจะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม (วอร์รูม – War room) เพื่อประสานงานด้านข้อมูล ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ สำหรับออฟไลน์ สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว มีซุ้มประชาสัมพันธ์ 23 ซุ้ม อาจมีการสำรวจเพิ่มเติม เพิ่มเจ้าหน้าที่ เพิ่มเวลาให้บริการ รวมทั้งจัดทำข้อมูลออนไลน์ ป้ายประชาสัมพันธ์ที่มีคิวอาร์โค้ด หรือหมายเลขโทรศัพท์สำหรับอัปเดทข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว การประสานความร่วมมือกับที่ตำรวจ รวมถึงสำนักงานคณะกรรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ตรวจสอบสถานประกอบการที่เข้าข่ายเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไกด์เถื่อน รถตุ๊ก ๆ และรถแท็กซี่ ที่หลอกลวงนักท่องเที่ยว หลังจากนี้ จะตั้งคณะทำงานเพื่อประสานความร่วมมือกันในรายละเอียดและดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ที่ประชุมรายงาน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา สำหรับสถิตินักท่องเที่ยวเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ระหว่าง ม.ค.-ก.ย.65 (ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว) รวม 26 ล้าน 401,150 คน แบ่งเป็น คนไทย 21,349,176 คน ชาวต่างชาติ 5,051,974 คน
ข่าวน่าสนใจ:
- ศึกษาธิการระยอง จับมือเทคนิคระยอง และศูนย์การค้าเซ็นทรัลระยอง จัดกิจกรรมโครงการเรียนดี มีความสุขสู่อนาคตที่สดใส
- นนทบุรี หนุ่ม 16 ขับเบนช์ เสียหลักเหินขึ้นไปคาอยู่บนรถ 6 ล้อรอดตายปาฏิหาริย์
- ตำรวจนครพนมทลายขบวนการค้ายาเสพติด ยึดยาบ้า 2 ล้านเม็ด ไอซ์ 46 กก. ผู้ต้องหา 4 ราย รับจ้างข้ามชาติ
- เปิดสะพานข้ามแยกสระขวัญชั่วคราวช่วงเทศกาลปีใหม่ จ.สระแก้ว ส่วนเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอ่างฤาไนเปิดใช้เส้นทางช่วงกลางคืน
ปัญหาที่พบบ่อย เป็นปัญหาด้านความปลอดภัย อาทิ ความปลอดภัยทางน้ำ (การโดยสารเรือท่องเที่ยว) ความปลอดภัยบนท้องถนน การถูกหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ เช่น แท็กซี่ บริษัทนำเที่ยว ร้านอัญมณีและเครื่องประดับ ร้านตัดสูท ฯลฯ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น ถูกทำร้าย ถูกประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน อาชญากรรม ภัยธรรมชาติ เช่น พายุฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วม เหตุจลาจล/การก่อการร้าย ปัญหาสุขภาพ การหลงทาง และอื่น ๆ เช่น เอกสารสำคัญสูญหาย
สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว มีซุ้มประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว จำนวน 22 ซุ้ม และจุดบริการส่วนหน้า 1 แห่ง รวม 23 ซุ้ม ทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว และประสานส่งต่อกรณีนักท่องเที่ยวต้องการความช่วยเหลือด้านความปลอดภัย ประกอบด้วย
1.จุดบริการส่วนหน้า – ตั้งอยู่ ณ อาคารส่วนการท่องเที่ยว 17/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
2.ซุ้มเยาวราช – หน้าธนาคาร CIMB ใกล้วงเวียนโอเดียน ริมถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์
3.ซุ้มหัวลำโพง – หน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT ทางออกประตู 2 ถนนพระรามที่ 4 เขตปทุมวัน
4.ซุ้มริเวอร์ซิตี้ – หน้าศูนย์การค้าริเวอร์ชิตี้ ซอยเจริญกรุง 24 ถนนโยธา เขตสัมพันธวงศ์
5.ซุ้มจตุจักร – หน้าประตูทางเข้าสวนจตุจักร ประตู 1 ถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร
6.ซุ้มแพลทินั่ม – ข้างประตูทางเข้าห้างแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ โซน 2 ถนนเพชรบุรี
7.ซุ้มรพ.ตำรวจ – ใกล้สี่แยกราชประสงค์ ฝั่งโรงพยาบาลตำรวจ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน
8.ซุ้มห้วยขวาง – หน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT ห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง
9.ซุ้มท่าช้าง – หน้าราชนาวีสโมสร ถนนมหาราช เขตพระนคร
10.ซุ้มสราญรมย์ – หน้าสวนสราญรมย์ ฝั่งตรงข้ามกรมการรักษาดินแดน ถนนสนามไชย เขตพระนคร
11.ซุ้มวัดบวรนิเวศวิหาร – เกาะกลางถนนสิบสามห้าง ตรงข้ามวัดบวรนิเวศวิหารฯ ถนนสิบสามห้าง เขตพระนคร
12.ซุ้มบางขุนพรหม – สี่แยกบางขุนพรหม ฝั่งวัดเอี่ยมวรนุช ถนนสามเสน เขตพระนคร
13.ซุ้มศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร – ลานคนเมือง ฝั่งถนนดินสอ เขตพระนคร
14.ซุ้มท่าผ่านฟ้า – เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนถึงท่าเรือคลองแสนแสบ ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
15.ซุ้มมาบุญครอง – ใกล้สี่แยกปทุมวัน หน้าห้าง MBK Center ถนนพญาไท เขตปทุมวัน
16.ซุ้ม รพ.จุฬา -ใกล้สี่แยกศาลาแดง ฝั่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตรงข้ามสวนลุมพินี ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน
17.ซุ้มเซ็นจูรี่ – ปากซอยรางน้ำ ถนนพญาไท เขตราชเทวี
18.ซุ้มสยามพารากอน – หน้าห้างสยามพารากอน ฝั่งประตูทางออก 1 ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม เขตปทุมวัน
19.ซุ้มเบญจสิริ – หน้าอุทยานเบญจสิริ ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย
20.ซุ้มการบินไทย – ใกล้สี่แยกสีลม-นราธิวาสฯ ฝั่งสำนักงานขายบัตรโดยสารบริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) สาขาสีลม ถนนสีลม เขตบางรัก
21.ซุ้มแอมบาสเดอร์ – หน้าโรงแรม Hyatt Regency ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา
22.ซุ้มพญาไท – ตรงสี่แยกพญาไท หน้าโรงแรมฟลอริดาและสถานีรถไฟฟ้า BTS พญาไท ทางออกที่ 4 ถนนพญาไท เขตราชเทวี
23.ซุ้มอนุสาวรีย์ชัยฯ (ดินแดง) – บนเกาะจราจรฝั่งเกาะดินแดง อนุสาวรีย์-ชัยสมรภูมิ ถนนราชวิถี เขตราชเทวี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: