กรุงเทพฯ – ครั้งแรกในไทย กทม.เปิดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส เสริมภูมิคุ้มกันโรค ลดอัตราการเจ็บป่วย-เสียชีวิต ในเด็กอายุ 2-4 เดือน ฟรี ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 กรุงเทพมหานคร จัดโครงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันโรค ลดปัญหาเชื้อดื้อยา ลดภาระรักษาพยาบาล ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม.ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หากมีการเจ็บป่วย ด้วยโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง อาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ กทม.จึงมุ่งเน้นให้กลุ่มเด็กเล็ก อายุ 2-4 เดือน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรค ซึ่งเด็กอายุ 2-4 เดือน เป็นช่วงอายุแรกที่จะได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 พ่อแม่สามารถพาลูกไปเข้ารับบริการได้ที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง เริ่มวันนี้ (15 พ.ย.65) เป็นวันแรก และจะให้บริการต่อเนื่องในคลินิกสุขภาพเด็กดี (Well baby) ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-15.30 น.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย โทร.0 2203 2887-9 ในวันและเวลาราชการ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
สถานการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ในพื้นที่ กทม. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 กันยายน 2565 พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ 5,870 คน คิดเป็นอัตราป่วย 106.19 คนต่อประชากรแสนคน และพบผู้ป่วยอายุระหว่างแรกเกิด-2 ปี จำนวน 973 คน คิดเป็นอัตราป่วย 17.69 คนต่อประชากรแสนคน
ข่าวน่าสนใจ:
- นนทบุรี หนุ่ม 16 ขับเบนช์ เสียหลักเหินขึ้นไปคาอยู่บนรถ 6 ล้อรอดตายปาฏิหาริย์
- บุรีรัมย์ ตรวจเข้มกระเช้าปีใหม่ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน ป้องกันเอาเปรียบผู้บริโภค
- ศึกษาธิการระยอง จับมือเทคนิคระยอง และศูนย์การค้าเซ็นทรัลระยอง จัดกิจกรรมโครงการเรียนดี มีความสุขสู่อนาคตที่สดใส
- ตำรวจนครพนมทลายขบวนการค้ายาเสพติด ยึดยาบ้า 2 ล้านเม็ด ไอซ์ 46 กก. ผู้ต้องหา 4 ราย รับจ้างข้ามชาติ
ทั้งนี้ อาการสำคัญและความรุนแรงของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น หากเป็นโรคปอดอักเสบ มักจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หรือหากมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก และอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรือหากติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยก็จะมีไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว มีภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้
การป้องกัน
1.หลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในบริเวณสถานที่ที่คนแออัด
2.จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ
3.หลีกเลี่ยงฝุ่นและควัน เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ
4.ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรง อยู่ใกล้ชิดกับผู้กำลังมีอาการหวัด หรือไอ
5.ให้โภชนาการที่เพียงพอแก่เด็ก เริ่มจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต
6.การฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ดีที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: