วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมศูนย์เยาวชนและครอบครัวเทศบาลนครขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น มอบหมายให้ นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง รองนายกเทศมนตรี เป็นประธานการประชุม การขับเคลื่อนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทย โดยมี นายทัศนัย ประจวบมอญ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสาธารณสุข และพนักงานเทศบาลที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมครั้งนี้
สืบเนื่องจาก จังหวัดขอนแก่นได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยได้ขึ้นทะเบียนโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทย ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ในการลงพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาล จำนวน 95 ชุมชน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทุกครัวเรือนทำการคัดแยกขยะเปียก หรือขยะอินทรีย์จำพวกเศษอาหารที่เหลือจากการรับประทานในแต่ละวัน และนำไปกำจัดในรูปแบบถังขยะเปียกลดโลกร้อน
โดยเป็นถังที่มีลักษณะทรงกระบอกเจาะก้นถังและนำไปฝังลงในพื้นดินลึกประมาณ 2/3 ของถังและนำเศษอาหารที่รับประทานเหลือ รวมทั้งเศษผัก ผลไม้ที่เหลือจากการบริโภค ทิ้งลงในหลุมถังขยะเปียก ลดโลกร้อน เมื่อเต็มให้ถอดถังออกและฝังกลบขยะเศษอาหารที่ทิ้งลงในถัง และนำถังไปหาจุดฝังใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งปริมาณขยะอินทรีย์ที่ทิ้งรวมกับขยะทั่วไปมีสัดส่วนมากถึง ร้อยละ 60 จากขยะที่ส่งกำจัดวันละ 170 ตัน เทศบาลนครขอนแก่น มีครัวเรือนในชุมชนที่จัดตั้งแล้ว 95 ชุมชน ประมาณ 27,000 ครัวเรือน ถ้าสามารถคัดแยกขยะเปียก หรือขยะอินทรีย์จากครัวเรือนเหล่านี้ คาดการณ์ในการลดปริมาณขยะก่อนเข้าสู่ระบบเก็บขนได้ไม่น้อยกว่า 20 ตันต่อวัน หรือประมาณ 7,300 ตันต่อปี และปริมาณขยะที่ลดได้นี้จะถูกส่งต่อไปยังกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้สมัครร่วมโครงการลดก๊ซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(T-VER)และสามารถนำมาคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตจำหน่ายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจและส่งรายได้คืนกลับมายังท้องถิ่นต่อไป ทั้งนี้ภายใต้กระบวนการทวนสอบตามมาตรฐานขององค์การบริหารก๊าชเรือนกระจก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: