ตรัง-ชาวบ้านรวมตัวกันเพาะเห็ดฟางขายกก.ละ 100 บาท สู้กลับราคายางตกต่ำที่เหลือกก.ละประมาณ 37-40 บาท และฝนตกชุกกรีดยางไม่ได้ แต่ละวันเก็บผลผลิตได้วันละประมาณ 60 – 100 กว่ากก. สร้างรายได้รายวัน เป็นกอบเป็นกำ แทนรายได้จากยางพารา
เกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ อ.สิเกา จ.ตรัง หลายราย โดยเฉพาะในกลุ่มญาติพี่น้อง จับมือกันใช้พื้นที่ว่างในสวนยางพาราแบ่งพื้นที่กันเพาะเห็ดฟางจากกากทลายปาล์มน้ำมัน วัสดุเหลือใช้ที่ทางโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในพื้นที่ จ.ตรัง ต้องนำไปกำจัดทิ้ง ซึ่งปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดตรัง เช่นเดียวกับยางพารา ทำให้มีวัตถุดิบเหลือใช้รองรับได้จำนวนมากอย่างไม่ขาดแคลน ซึ่งเห็ดฟางเป็นที่ต้องการของตลาดรายได้ดี กก.ละ 100 บาท เกษตรกรหันเพาะขาย สู้กลับราคายางพาราที่ตกต่ำเหลือกก.ละ 37-40 บาท และฝนตกชุกกรีดยางไม่ได้ และยังสู้กับโรคใบร่วงของยางพาราที่กำลังระบาดหนักอยู่ในขณะนี้ ทำให้เป็นรายได้หลักแทนยางพาราไปแล้วสำหรับครอบครัวที่เพาะ
โดยที่สวนยางพาราในพื้นที่ หมู่ 5 บ้านไร่ออก ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง นางสาวรุ่งนภา กิจนา อายุ 25 ปี บอกว่า ครอบครัวตนเองและญาติพี่น้องรวมประมาณ 4 ครอบครัว เพาะเห็ดฟางขายมาประมาณ 3 ปีแล้ว เดิมทำเป็นอาชีพเสริมจากการกรีดยางพารา โดยใช้กากทลายปาล์มน้ำมันที่รับซื้อมาจากโรงงานนำมาทำ โดยใช้พื้นที่ว่างในสวนยางพาราของตนเอง รวมทั้งของญาติ ๆ โดยแปลงที่เห็นอยู่นี้ รวมประมาณ 80 ร่อง ปลูกพื้นที่ว่างกลางร่องสวนยางพารา แต่ละวันสามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวันๆละประมาณ 60 – 100 กก.ขึ้นไป ในราคาขายกก.ละ 100 บาท มีรายได้วันละไม่ต่ำกว่า 6,000 – 10,000 บาท โดยนำมาแบ่งกันตามปริมาณของแต่ละราย โดยปลูกเอง และขายเอง โดยพ่อกับแม่จะเป็นคนนำไปขายตามตลาดนัดต่างๆรวมทั้งขายส่งให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อ โดยขายในราคาเดียวกันทั้งหมดทั้งในตลาดและหน้าสวน ปลูกเองขายเอง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่หากมีคนมาซื้อไปขายต่อ เขาก็จะขายในราคากก.ละ 150 บาท ความต้องการของตลาดดีมาก โดยเห็ดฟางสามารถเก็บขายมีรายได้ทุกวัน เพราะในการเพาะเห็ดฟางนั้น ญาติพี่น้องที่รวมกลุ่มกันปลูกประมาณ 4 ครอบครัวนั้น ก็จะวางแผนร่วมกันในการปลูก โดยไม่ปลูกใหม่พร้อมกัน แต่จะทยอยปลูก โดยจะสั่งซื้อเศษทลายปาล์มน้ำมันจากโรงงานให้มาลงทุกๆสัปดาห์ ๆละ 1 คันรถบรรทุก เพื่อนำมาทยอยปลูก โดย 1 คันรถ บรรจุได้ประมาณ 8 ตัน (8,000 กก.) ในราคาคันละ 2,500 บาท ซึ่งสามารถปลูกได้ประมาณ 25 ร่อง เพื่อให้เห็ดสามารถออกดอกมีป้อนตลาดได้ต่อเนื่องทุกวัน รายได้ดี เพราะความต้องการของตลาดดีมาก โดยราคาที่ขายเป็นราคาดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจกก.ละ 120 – 150 บาท ทั้งนี้ ในการเพาะเห็ดฟางขายนั้น ทำง่ายไม่ได้ยุ่งยากมากนัก ใช้เวลาสั้น ๆ ปลูกประมาณ 15 วันก็เก็บผลผลิตขายได้ และสามารถเก็บผลผลิตไปได้ยาวนานประมาณ 1 เดือน ก็ต้องรื้อพักร่อง และปลูกใหม่ในภายหลัง ส่วนสารเคมีก็ไม่ได้ใช้ แต่จะใช้น้ำหนักชีวภาพจากเศษผัก ปลา พืชผลเกษตรนำมาหมักใช้ในการรดเป็นปุ๋ย จึงไม่มีสารเคมี เพราะปลูกเองขายเอง และทำอาหารรับประทานเองด้วย และผลดีเพาะในสวนยางพารา คือ ทำให้ยางพาราได้รับปุ๋ยบำรุงต้นไปด้วย แต่ขณะนี้ยางพารานอกจากราคาตกต่ำและฝนตกยางกรีดไม่ได้แล้วนั้น ยังพบว่าสวนยางพารายังต้องเผชิญกับโรคใบร่วงด้วย โดยเดือนที่ผ่านมาได้กรีดยางพาราเพียง 5 วันเท่านั้น เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้ขาดรายได้ แต่มีรายได้จากเห็ดฟางเป็นรายได้หลักแทนในทุกๆวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณเห็ดที่เก็บได้ในแต่ละวัน แต่ละเดือนมีรายได้กว่า 2 แสนบาทเข้าสู่ครอบครัวและญาติพี่น้อง นอกจากนั้นก่อนที่เห็ดฟางจะออกผลผลิตนั้น หลังเริ่มเพาะ ก็ยังสามารถเก็บเห็ดปาล์มขายไปก่อน ซึ่งลักษณะเห็ดปาล์ม หน้าตาจะคล้ายกับถั่วงอก ในราคากก.ละ 60 บาท ซึ่งหลังจากเห็ดปาล์มหมด เห็ดฟางก็จะออกผลผลิต
ทางด้าน นายสุชาติ จันทร์เรือง อายุ 58 ปี กล่าวว่า กากทลายปาล์มน้ำมันจากโรงงาน เดิมโรงงานแจกจ่ายให้ ใครจะไปเอาก็ได้ฟรี แต่ขณะนี้ต้องซื้อแล้ว เนื่องจากกากทลายปาล์มน้ำมันกลายเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตไฟฟ้ามากขึ้น จึงทำให้กากทลายปาล์มน้ำมันราคาปรับขึ้นด้วย และต้องสั่งจองล่วงหน้า ส่วนเห็ดก็จะปรับราคาขายตามราคาต้นทุน แต่ราคาดีมาโดยตลอดไม่เคยตกต่ำ บางวันตนเองต้องนำไปขายวันละ 60 – 80 กก. และยังมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ด้วย ซึ่งไม่ต้องซื้อจากแหล่งอื่น แต่เอาจากของลูกหลานและญาติพี่น้อง ซึ่งปลูกเอง และไปขายเองทำให้ได้ราคาดีมาโดยตลอด ราคาเห็ดฟางไม่เคยตกต่ำ เพราะคนเพาะยังน้อย
ข่าวน่าสนใจ:
- บุรีรัมย์ จัดนิทรรศการศิลปะ รักษ์โลก รักเรา จุดพลังเยาวชน ประกวดวาดภาพชิงรางวัล 60,000 บาท (มีคลิป)
- นราธิวาส-สุดทน! พ่อค้าแม่ค้าร้อง ส.ส.นำเรื่องเข้าสภาฯ หลัง "บอสตลาดเก็นติ้ง" จัดหนัก! ปรับราคาเช่า-ต่อสัญญาสูงลิ่ว
- ลำปางรวบชายสูงอายุวัย 63 ลักลอบตัดไม้หวงห้ามในพื้นที่เขตป่าสงวนฯ
- ตรัง ราคายางดิ่งกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม กยท.หนุนสถาบันทำโครงการชะลอยางสู้นายทุน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: