X

‘ผู้ว่าฯ สัญจรเขตบางพลัด’ ตะลึง! พบกองขยะขนาดมหึมา

กรุงเทพฯ – ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สัญจรเขตบางพลัด ระบุ ปัญหาหลักคือน้ำท่วม กำชับเขตขุดลอกคูคลองและลอกท่อต่อเนื่อง สำหรับเรื่องร้องเรียนมากสุด คือ ทางเท้า 

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการประชุมติดตามปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของ สำนักงานเขตบางพลัด ในกิจกรรม ‘ผู้ว่าฯ สัญจร’ ​ซึ่งเขตบางพลัดเป็นเขตที่​ 15 ของการสัญจร​ ว่า  ปัญหาหลัก ๆ คือ น้ำท่วม เพราะเป็นพื้นที่เปราะบางที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีจุดฟันหลออยู่ 16 จุด มีบางจุดที่น้ำซึมเข้ามาได้บ้าง เช่น บริเวณจุดขนาบน้ำ ตอนนี้มีโครงการอุดแนวฟันหลอและทำเขื่อนเพิ่มเติมอยู่ระหว่างการเร่งรัด รวมถึงเร่งขุดลอกคูคลองตามคลองย่อย ๆ ที่มีอยู่ทั่วในพื้นที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งลอกท่อระบายน้ำ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเรื่องร้องเรียนที่มากสุด คือ ทางเท้า เช่น ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งมีทั้งทางเท้าไม่เรียบและการตั้งสิ่งของกีดขวาง ได้สั่งการให้สำนักการโยธาและสำนักเทศกิจ เร่งรัดดูแลเรื่องการจัดระเบียบให้เรียบร้อย

 

พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น ชวนประชาชนฉีดวัคซีนป้องกัน
รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น ประมาณ 1,300 – 1,500 คน/วัน ยอดผู้ป่วยที่นอนรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 200 คน/วัน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก เนื่องจากได้รับวัคซีน อัตราการครองเตียงยังสามารถรับได้ สำหรับอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 2-4 คน/วัน การหมุนเวียนของผู้ป่วยทำให้โรงพยาบาลยังสามารถรับมือได้ยายังมีเพียงพอ ทั้งฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ สามารถรองรับผู้ป่วยในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างน้อย 4 เดือน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทม.ยังให้บริการฉีดวัคซีนทุกศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาล ขอให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครั้งหลังสุด เกิน 3-4 เดือน ไปรับวัคซีนเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข ในวันพุธ ศุกร์ ช่วงบ่าย และวันเสาร์ ช่วงเช้า หรือรับบริการที่โรงพยาบาล โดยสามารถวอล์กอินได้เลย มีวัคซีนไฟเซอร์ ทั้งฝาสีส้ม สีแดง สีม่วง เพราะขณะนี้เข้าสู่ฤดูหนาวและมีฝนประปรายบ้าง ทำให้การติดเชื้อจะง่ายขึ้น หากได้รับวัคซีนและรักษาระยะห่าง จะสามารถช่วยป้องกันได้

นายชัชชาติ เสริมว่า นอกจากที่ศูนย์บริการสาธารณสุขแล้ว ยังมีให้บริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร อาคารกีฬาเวศน์ 1 ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ซึ่งจะสิ้นสุดการให้บริการในวันพรุ่งนี้ (27 พ.ย.65) แต่จะปรับขยายการให้บริการ ไปอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยน่าจะขยายการให้บริการออกไปอีก 1 เดือน เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ จะแจ้งข้อมูลให้ทราบผ่านเว็บไซต์ กทม. ต่อไป จะให้บริการด้านสาธารณสุขและแพทย์เชิงรุกในชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น และมีทางเลือกหลายทาง

เตรียมมาตรการรับมือความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่
นายชัชชาติ ยังเปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการรักษาความปลอดภัย และการป้องกันโรคโควิด ในงานเทศกาลต่าง ๆ รวมถึงการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ว่า ในเดือนหน้านี้ จะมีงานเทศกาลสำคัญ คือ งานกาชาด ตั้งแต่วันที่ 8-18 ธันวาคม 2565 ที่สวนลุมพินี ซึ่งคาดว่าจะมีคนมามาก เพราะหยุดจัด On-Site ไป 2 ปี จึงได้วางแผนเรื่องการจราจรและการดูแลความปลอดภัย งานนี้จะเป็นงานแรกก่อนปีใหม่ที่ต้องดูให้ดี ได้จัดเตรียมพื้นที่และประชุมหารือกับทุกฝ่าย

ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กล่าวเสริมว่า จะใช้แผนที่รัดกุมมากขึ้นเหมือนแผนลอยกระทง ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่จัดงาน โดยเฉพาะการเว้นให้มีพื้นที่เข้า-ออก ของเจ้าหน้าที่ได้โดยง่าย รวมถึงการดูความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบพื้นที่ กทม.ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการที่จัดงานใหญ่ ๆ แล้ว เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผู้ร่วมงานหลักแสนคน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรีมความพร้อมกับผู้ประกอบการ

ช่วงบ่าย ผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่พบประชาชน ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี ซอยจรัญสนิทวงศ์ 94 ซึ่งเป็นชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา และติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย ช่วงที่ 2 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 92

ระหว่างทาง ได้ตรวจสอบจุดลักลอบทิ้งขยะ บริเวณถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ ได้สั่งการให้ทางเขตเร่งแก้ไขปัญหา

จากนั้น เดินทางไปยังสถาบันอาหาร ซอยอรุณอมรินทร์ 36 พร้อมชมนิทรรศการ ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย หรือ Thai Food Heritage ซึ่งเป็นสถานที่เรียนรู้และรวบรวมองค์ความรู้ด้านอาหารไทย แห่งแรกของประเทศไทย โดยสถาบันอาหาร และองค์กรเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ​ กินข้าวกลางวัน​กับคนงาน​ กทม. แสดงความห่วงใยความเป็นอยู่​ ย้ำ สวัสดิการทุกคนต้องเท่าเทียมกัน
หนึ่งในสิ่งมที่ทำเป็นประจำ ในกิจกรรม ผู้ว่าฯ สัญจร คือ การรับประทานอาหารกลางวัน ร่วมกับลูกจ้างประจำของสำนักงานเขต วันนี้ มีตัวแทนลูกจ้าง 5 คนทั้งหญิง-ชาย ได้ร่วมโต๊ะกับ ผู้ว่าฯ กทม. เป็นพนักงานกวาด พนักงานสวนสาธารณะ​ พนักงานประจำรถบรรทุกสิ่งปฏิกูล พนักงานระบายน้ำ อายุน้อยสุด 25 ปี มากสุด 53 ปี

“ที่มากินข้าวกับพนักงานแบบนี้​ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น ผอ.เขต หรือคนกวาดถนน คนเก็บขยะ​ ทุกคนคือส่วนหนึ่งของทีมงาน​ ถ้าเรามาสัญจรที่เขตแล้วไม่ได้คุยกับน้องๆเขาก็เหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง​ ซึ่งที่ทำแบบนี้ไม่ได้คิดจะสร้างภาพใด​ๆ​ หลายเรื่องที่เราได้รับฟังมาเราก็นำไปปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขา​ เช่น​ ความต้องการในเรื่องต่างๆ​และสวัสดิการเป็นต้น” ผู้ว่าฯชัชชาติกล่าว

ระหว่างมื้ออาหาร ผู้ว่าฯ กทม.ได้พูดคุยกับพนักงาน​ สอบถามเรื่องชีวิตส่วนตัว​ เรื่องการเงิน​ รายได้​ การทำงาน และเรื่องทั่วไป อาทิ ที่พักอาศัย​ ชีวิตครอบครัว​ ปัญหาจากการทำงาน​ ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และพื้นที่ที่ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งให้กำลังใจ

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"