โตโน่ โผล่นครพนมพร้อมทีมงาน ร่วมหารือสองโรงพยาบาล หาข้อสรุปซื้อเครื่องมือแพทย์ หลังปิดยอดรับบริจาคที่ยอด 87 ล้านกว่าบาท ย้ำถือฤกษ์บวช 9 มกราคม
วันที่ 29 พ.ย.65 โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ผู้นำร่วมกิจกรรมว่ายน้ำข้ามโขง “หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” One Man And The River สามารถว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงทั้งไปและกลับระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตรสำเร็จ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เป็นการว่ายน้ำการกุศลเพื่อรับเงินบริจาคช่วยเหลือสองโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลนครพนมของไทยและโรงพยาบาลแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว เพื่อจัดหาเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลทั้งสองแห่ง โดยยอดบริจาคที่ได้รับ คือ 87,704,542 บาท
โดยก่อนหน้านี้ในวันที่ 28 พ.ย.65 โตโน่ พร้อมกับนางสาวลินธรณ์ รัตนวรางกูร ผู้จัดการส่วนตัว ได้เดินทางข้ามฝั่งไปที่เมืองท่าแขกแขวงคำม่วนเพื่อ พบปะหารือกับนายแพทย์แก้วอุดม หลอดทัมมะวง ผอ.รพ.แขวงคำม่วน เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว โดยมีนายแพทย์สุภวุฒิ ภูมิ นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลนครพนม พญ.สุรธินีย์ คูสกุลวัฒน์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลนครพนม พร้อมคณะเดินทางไปด้วย ในการประชุม คอยอัพเดทความคืบหน้าในการขอรับบริจาคเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการลงพื้นที่พร้อมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางของมูลนิธิเทใจ ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลนครพนม ทีมแพทย์โรงพยาบาลคำม่วน เมืองท่าแขก สปป.ลาว เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ประโยชน์ที่จะเกิดสูงสุดกับโรงพยาบาลทั้ง 2 ฝั่งโขง สำหรับรายการเครื่องมือแพทย์ ประมาณ 25 รายการ ตอนนี้เหลือสรุปหาข้อเสนอ หาราคาที่เหมาะสม มีคุณภาพ และยุติธรรม จากบริษัทต่าง ๆ ที่นำเสนอมา โดยมีนายแพทย์จากโรงพยาบาลทั้ง 2 ฝั่ง ไทย ลาว ช่วยกันพิจารณา
และในช่วงบ่ายวันนี้เวลาประมาณ 13.00 น. โตโน่ ได้เดินทางไปที่ห้องประชุมผู้บริหารโรงพยาบาลนครพนม เพื่อเข้าพบนายแพทย์ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผอ.รพ.นครพนม โดยมี นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิเทใจ และตัวแทนแพทย์จากทั้งสองโรงพยาบาลร่วมกันปรึกษาหารือ เพื่อหาข้อสรุปในการหาอุปกรณ์การแพทย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งสองโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง
โดยโตโน่ กล่าวว่า ได้เดินทางไปกับคุณหมอของโครงการเทใจ และคุณหมอที่ รพ.นครพนม สำหรับอุปกรณ์การแพทย์ ที่ รพ.คำม่วนเสนอมา มีอุปกรณ์หลายอย่างที่โรงพยาบาลจำเป็นต้องมี จะช่วยให้ได้มากที่สุด เท่าที่เราจะช่วยได้ ซึ่งต้องดูความต้องการของโรงพยาบาลนครพนมด้วย ทุกคนมีความเห็นตรงกัน อยากจะได้ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ที่ทาง รพ.ส่งรายละเอียดมา ราคาค่อนข้างสูง ในกรณีที่เกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ ทางโรงพยาบาลนครพนม ต้องส่งไปที่ รพ.สกลนคร รพ.อุดรธานี รพ.ขอนแก่น ซึ่งใช้เวลาเดินทางมากพอสมควร โรคที่เกี่ยวกับหัวใจ สูงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลว ในการประชุมทั้ง 2 วัน ทางฝั่งลาว เป็นเรื่องเครื่องมือแพทย์ ความจำเป็นมีอยู่ประมาณ 20 กว่ารายการ ทาง รพ.นครพนม คือศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ในเรื่องของรายละเอียดอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ราคา และความยุติธรรม ต้องการให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ทุกบาททุกสตางค์ให้เกิดประโยชน์ที่สุด การประชุมร่วมกันทั้ง 2 รพ. ไม่สามารถแบ่งคนละครึ่งได้ อุปกรณ์ศูนย์หัวใจ ราคาประมาณ 50 ล้านบาท ยอดบริจาคที่ได้มา ช่วยได้เกือบทั้งหมด มูลนิธิเทใจ จะช่วยเข้ามาดูรายละเอียดต่าง ๆ แต่ต้องให้เป็นไปตามกฎระเบียบของมูลนิธิฯ ด้วย ยอดเงินบริจาค 87,704,542 บาท มูลนิธิเทใจ มีนโยบายหักไว้ 10% คือ ค่าใช้จ่ายของมูลนิธิฯ มีค่าใช้จ่ายแพลตฟอร์ม เพื่อพัฒนาระบบ มีการรายงานผลข้อมูล มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายในเวปไซด์ของมูลนิธิฯ ให้ตอบโจทย์กับแต่ละงานให้ได้มากที่สุด ไม่มีอะไรที่ปิดบัง ขณะที่เดินทางไปไหน ยังไม่มีการประชุม ไม่มีรายละเอียด เหตุผลในการประชุม บางทีอาจจะไม่ได้บอกว่า เดินทางไปไหน เป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้วในส่วนการประชาสัมพันธ์ บ้านเรา ประเทศเรา ต้องการความรัก ความสามัคคี กิจกรรม “หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ทุกอย่างต้องชัดเจน อยากให้เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศให้มากที่สุด ในการพัฒนาในเรื่องต่อไป คือเรื่องการท่องเที่ยว ขอทำให้เรื่องอุปกรณ์การแพทย์ให้เรียบร้อยก่อน พร้อมให้ทุกอย่างกับนครพนม แขวงคำม่วน ประเทศไทย พร้อมที่จะทำ อยากสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ สร้างสรรค์ รักสามัคคีกัน ให้ความรักซึ่งกันและกัน ในเรื่องเครื่องมือแพทย์ จะคอยอัพเดทเป็นประจำ
ส่วนการบวช กำหนดในวันที่ 9 ม.ค.2566 ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร กำหนดวันบวช 7 วัน ลาสิกขา วันที่ 15 ม.ค.65 และไปจำวัดที่วัดพระธาตุศรีโคตรตะบอง แขวงคำม่วน สปป.ลาว จำนวน 2 คืน การบวชเป็นการทดแทนบุญคุณให้ทุกคนที่คอยให้ความช่วยเหลือ ทั้งที่ จ.นครพนม และฝั่ง แขวงคำม่วน สปป.ลาว
นายแพทย์ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผอ.รพ.นครพนม กล่าวว่า ขอขอบคุณโตโน่และทีมงาน ในพื้นที่ จ.นครพนม เรื่องปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่นครพนม แขวงคำม่วน มีอัตราการเสียชีวิตสูง เป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุเยอะ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 1,200,000 คน โดยกำลังสร้างรถไฟความเร็วสูง คนไข้ในอนาคต และคนไข้ปัจจุบัน ได้ใช้แน่นอน เป็นปัญหาในพื้นที่หลายปี ถ้ารอแผนปี 2569 – 2570 ในขณะนี้มีโครงการฯ เข้ามา ทำได้เร็วขึ้น งบประมาณในการสร้าง 380 ล้านบาท ความพร้อมของโรงพยาบาลนครพนม เป็นจังหวัดชายแดน เชื่อมกับสกลนคร ส่งต่อประมาณ 1.30 ชม. ควรมีการบริหารจัดการขึ้นภายในพื้นที่ ให้ความมั่นใจกับคนในพื้นที่นักท่องเที่ยว ในการสร้างการรักษาโรคหัวใจแบบครบวงจร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: