สพป.ปัตตานี 3 คัดสุดยอดนักเรียนเก่ง ในงานศิลปหัตถกรรม “ตานี 3 หัตถศิลป์ก้าวหน้า วิชาการก้าวไกล” เป็นตัวแทนแข่งระดับชาติ
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ณิชา เทียมสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ปัตตานี เขต 3 เป็นประธานเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ปีการศึกษา 2565 ภายใต้ชื่องาน “ตานี 3 หัตถศิลป์ก้าวหน้า วิชาการก้าวไกล” ที่หอประชุมละหารฉำฉา โรงเรียนชุมชนบ้านละหารมิตรภาพ ที่ 113 อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการสถานศึกษา และคณะครูในเขตพื้นที่บริการอำเภอสายบุรีไม้แก่น กะพ้อ และทุ่งยางแดง ร่วมงานและให้กำลังใจแก่นักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งจากสังกัด สพฐ. สช. เทศบาล และ อปท. เพื่อคัดเลือกตัวแทนไปแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ 70 ปีการศึกษา 2565 ระดับชาติ ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2565 ที่จังหวัดสตูล ต่อไป
โดยมีนางศิราณี ณ ปัตตานี ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษา สพป.ปัตตานีเขต 3 กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนได้แสดงความสามารถที่เป็นเลิศด้านวิชาการ การแสดง และทักษะด้านวิชาชีพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2565 มีกิจกรรมการแข่งขันทั้งสิ้น 123 รายการ มีสนามการแข่งขัน 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนชุมชนบ้านละหารมิตรภาพที่ 113 โรงเรียนบ้านป่าม่วง โรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งคล้า (บุญเพชรประชานุสรณ์) โรงเรียนบ้านกะลาพอ และสพป.ปัตตานี เขต 3 มีโรงเรียนเข้าร่วมการแข่งขันจากสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จำนวน 10 โรงเรียน สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอทุ่งยางแดง จำนวน 6 โรงเรียน สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอกะพ้อจำนวน 1 โรงเรียน สังกัดเทศบาลเมืองตะลุบัน จำนวน 6 โรงเรียน สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลมะนังดาลำ จำนวน 1 โรงเรียน และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 3 จำนวน 60 โรงเรียน
ดร.ณิชา เทียมสุวรรณ ผอ.สพป.ปัตตานี เขต 3 เปิดเผยว่า “กิจกรรมในครั้งนี้ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถและพัฒนาตนเอง สอดคล้องกับนโยบายที่จะนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ การสร้างอาชีพและมีรายได้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ปรากฏต่อสาธารณชน ซึ่งงานศิลปหัตถกรรมนี้ ได้เริ่มจัดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 แนะนำชักจูงให้เด็กชายหญิงในสมัยนั้นได้เอาใจใส่ฝึกหัดศิลปหัตถกรรม ให้มีอาชีพ การจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนได้จัดต่อเนื่องกันตลอดมา มีหยุดเว้นบ้าง ในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ และได้เปลี่ยนชื่องานไปก็หลายครั้ง นับว่าเป็นงานที่มีชื่อเสียงมากตั้งแต่ในอดีตนับถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 100 ปี เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนครูและบุคลากรทางการศึกษาได้พัฒนาความสามารถด้านวิชาการ การแสดงและทักษะวิชาชีพของตนเอง..
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: