X

ตรังยุค 4.0 ชาวบ้านไร้ไฟฟ้า 17 ครัวเรือน เรียกร้องหลายหน่วยงานเกือบ 20 ปี ยังมืดมิด

ตรัง ไร้ไฟฟ้าใช้ 17 ครัวเรือน ชาวบ้านเรียกร้องยาวนานเกือบ 20 ปี ยังมืดมิด ต้องช่วยตัวเอง ติดตั้งโซล่าเซลล์ ใช้พลังงานแบตเตอรี่รถยนต์ มีกำลังหน่อยก็ลงขันเดินสายไฟต่อพ่วงจากเพื่อนบ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างต้องพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินซึ่งชาวบ้านอาศัยอยู่

ที่บ้านป่าขี้ทราย ม.6 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่มีทางสาธารณะป่าขี้ทราย เข้าไปยังหมู่บ้านเล็กๆ มีชาวบ้านอาศัยอยู่ 17 ครัวเรือน  มีสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และรีสอร์ท อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ชาวบ้านที่นี้กลับไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้ฝั่งถนนสายหลักจะมีสาธารณูปโภคครบทั้งไฟฟ้า ประปา แต่ชาวบ้านบ้านป่าขี้ทรายกลับไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก
ชาวบ้านได้กางแผนที่ระวางทางอากาศให้ผู้สื่อข่าวดู มีข้อมูลระบุในแผนที่เป็นที่ดินมีชื่อชาวบ้านเป็นผู้ถือครอง และ บริษัทผู้รับรับสัมปทานเหมืองแร่เอกชนรายหนึ่ง ซึ่งหมดสัมปทานไปนานแล้ว

จากข้อมูลชาวบ้านบอกว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในชุมชนนี้หลายสิบปีแล้ว และ เมื่อราว 17 ปีก่อนนี้ได้รวมตัวกันร้องขอไฟฟ้ามาโดยตลอด เพราะพวกเขารู้สึกแปลกแยกจากคนข้างนอก เมื่อการเรียกร้องไม่เป็นผลก็ได้ช่วยเหลือตัวเอง เช่น การใช้แบตเตอรี่รถยนต์เป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้า ติดตั้งโซล่าเซลล์ หรือ แม้แต่ลงขันกันครัวเรือนละ 5,000-6,000 บาท เพื่อขอพ่วงไฟฟ้าจากบ้านของเพื่อนบ้าน พร้อมติดตั้งมิเตอร์เกษตร ซึ่งค่าไฟฟ้าจากมิเตอร์ประเภทนี้แพงกว่าไฟฟ้าครัวเรือนทั่วไป และการต่อพ่วงไฟฟ้าเข้ามา หรือ โซล่าเซลล์ พลังไฟฟ้าจะต่ำ ยิ่งใช้งานพร้อมกันหลายครัวเรือนทำให้ไฟฟ้าไม่เสถียร ไฟตก ไฟกระชาก ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้ไม่เต็มที่

โดยชาวบ้านให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปสอบถามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถึงเหตุผลที่ไม่สามารถสามารถติดตั้งไฟฟ้าให้ชาวบ้านได้ ซึ่งกฟภ.ได้อ้างเหตุกรณีพิพาทที่ดินของบริษัทสัมปทานเหมืองแร่ในอดีต และ ไม่แน่ชันว่าที่ดินป่าขี้ทรายทับซ้อนที่ดินป่าสงวนหรือไม่ จึงให้ชาวบ้านไปหาคำตอบ ซึ่งชาวบ้านได้ไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าที่ดินไม่ได้ทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแต่อย่างใด

นายปริญญา เบญจกุล  อยู่บ้านเลขที่ 148 ม.6 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง บอกว่า ตนเข้ามาอยู่ที่นี่เมื่อปี 2547 ซึ่งตามแผนที่มีทางสาธารณชัดเจน แน่นอนว่าเขตทางสาธารณะไม่เกี่ยวกับการพิพาทที่ดินของเอกชน แต่ชาวบ้านที่นี้ 17 ครัวเรือน ที่มีบ้านเลขที่กลับไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีขนำในสวนยาง สวนปาล์ม  ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นกัน  ซึ่งปัญหานี้คาราคาซังมาหลายปีก็ไม่มีใครช่วยได้ ชาวบ้านต้องช่วยตัวเอง เช่น ต้องลงทุนติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อให้ได้ใช้ฟ้า ลูกหลานได้มีแสงสว่างเพื่ออ่านหนังสือ ทำการบ้าน หากจะใช้อินเตอร์เน็ตเด็กนักเรียนต้องออกไปใช้อินเตอร์เน็ตที่ ร.ร.ท่ามะปราง ซึ่งห่างจากที่นี่ประมาณ 4 กม. ชาวบ้านดิ้นรนเรียกร้องมา 17 ปี ซึ่งชาวบ้านไปติดต่อทั้งกฟภ.จังหวัดตรัง สาขาห้วยยอด, อบต.ปากแจ่ม, สำนักงานป่าไม้, ศูนย์ดำรงธรรม แต่ไม่มีหน่วยงานไหนออกมาเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ชาวบ้านต้องขันกันลากต่อพ่วงไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน ระยะทางกว่า 1 กม. เพื่อนำกระแสไฟมาใช้กัน 10 กว่าหลัง ซึ่งต้องติดตั้งมิเตอร์เกษตรค่าไฟฟ้าแพงกว่าปกติถึง 2 เท่า และชาวบ้านต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแบบมิเตอร์เกษตรสูง อยากให้ผู้มีอำนาจช่วยชาวบ้าน เพราะนโยบายรัฐบาลระบุชัดว่าทุกคนต้องมีไฟฟ้าใช้

น.ส.พัชนี เพียรดี อยู่บ้านเลขที่ 85 ม.6 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง บอกว่า ครอบครัวเดือดร้อนมากเพราะไม่มีไฟฟ้าใช้ ที่บ้านอาศัยอยู่หลายคนมีทั้งคนแก่  คนพิการ และเด็ก การอยู่ในความมืดไม่ปลอดภัย คนแก่จะเดินเหินสายตาฝ้าฟางก็มองไม่เห็นก็เสี่ยงหกล้ม หรือ หากมีสัตว์ร้ายก็ไม่ปลอดภัย บ้านตนต้องแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งโซล่าเซลล์ และ ใช้แบตเตอร์รี่เป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้า พอใช้เป็นไฟส่องสว่างได้ ส่วนทีวี ตู้เย็น ที่มีอยู่ก็ใช้งานไม่ได้ เพราะไฟฟ้าไม่เพียงพอ จะชาร์ทแบตเตอรี่มือถือก็ต้องนำไปชาร์ทที่ทำงาน และตัวแบตเตอรี่รถยนต์ก็ต้องชาร์ตไฟทุกสัปดาห์ ซึ่งตั้งแต่รุ่นคุณพ่อที่อาศัยอยู่ที่นี่กว่า 40 ปี ก็ไม่เคยมีไฟฟ้าใช้ อยากให้ช่วยชาวบ้านให้มีไฟฟ้า เพราะเป็นความจำเป็นพื้นฐาน ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำหนังสือไปยังอบต.ปากแจ่ม และ ทางอบต.ปากแจ่ม ได้ทำหนังสือไปยัง กฟภ.จังหวัดตรัง สาขาห้วยยอด แต่ยังไม่มีการตอบกลับมา โดยที่ผ่านชาวบ้านได้ไปติดต่อที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอห้วยยอด และทางศูนย์ดำรงธรรมได้ประสานมายังอบต.ปากแจ่ม และ กฟภ.จังหวัดตรัง สาขาห้วยยอด ก็มีเจ้าหน้าที่กฟภ.มาดูพื้นที่ แต่ก็เงียบหายไป


นางสุดจิน บุญธะรา อยู่บ้านเลขที่ 85 ม.6 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง บอกว่า ตนลงขันกับเพื่อนบ้านรายอื่นดึงสายไฟเข้ามาที่บ้าน แต่ไฟฟ้าที่ได้ไม่มีประสิทธิภาพนัก ช่วงเย็นที่ใช้ไฟพร้อมกันหลายหลังคาเรือน ไฟฟ้าจะตก บางครั้งหุงข้าวก็ไม่สุกด้วยซ้ำ พัดลมก็หมุนช้า ทำให้เครื่องใชไฟฟ้าเสียง่ายกว่าปกติ ส่วนหลานที่อยู่ในวัยเรียนก็ต้องรีบทำการบ้านตั้งแต่ยังไม่พลบค่ำ ตนเองอยากให้มีไฟฟ้าใช้เหมือนบ้านคนอื่น เพราะทุกวันนี้ใช้ชีวิตลำบากมาก โดยเมื่อ 2 ปีก่อน มีเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เข้ามาโปรยยาหอมกับชาวบ้านที่นี่ ว่าอีกไม่ช้าจะมีไฟฟ้าใช้ แต่ก็เงียบหายไป ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะลงมาดูพื้นที่เมื่อชาวบ้านร้องเรียนไป หลังจากเรื่องเงียบเขาก็เงียบไปด้วย


น.ส.วิภาภรณ์ แก้วทอง (เสื้อยีนส์) อยู่บ้านเลขที่ 86 ม.6 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง บอกว่า ตนมีอาชีพขายนมสด ได้รับเดือดร้อนเพราะไม่มีตู้เย็นแช่นมสด ต้องซื้อน้ำแข็งมาแช่ ใช้เงิน 50-60 บาทต่อวันสำหรับซื้อน้ำแข็ง และหลานต้องเรียนหนังสือต้องใช้คอมพิวเตอร์ ใช้มือถือ ใช้อินเตอร์เน็ต แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ก็ลำบาก ไฟฟ้าที่พ่วงมาก็ติด ๆ ดับ ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า พัดลม ทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะใช้ไฟฟ้าร่วมกันหลายหลัง

ในขณะเดียวกัน นางกิตติรัตน์ เมธีสิทธิจิตต์ อยู่บ้านเลขที่ 176 ม.6 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้พาผู้สื่อข่าวเดินดูบริเวณรอบบ้านของเธอ ซึ่งมีซากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุดจากกระแสไฟฟ้าไม่พอ ไฟตกบ่อย มีทั้ง ทีวี เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า และ พัดลม

นางกิตติรัตน์ เมธีสิทธิจิตต์ (เสื้อลายสีเหลือง) บอกว่า ตนพ่วงไฟฟ้ามาใช้เช่นกัน ซึ่งไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ ใช้พร้อม ๆ กันหลายหลังไม่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เครื่องใช้ฟ้าเสียหาย อยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยชาวบ้าน อยากมีไฟฟ้าใช้เหมือนกับที่อื่น ๆ และปัญหาอีกอย่างคือในช่วงฤดูแล้งชาวบ้านที่นี่ซึ่งใช้ประปาภูเขา ฤดูแล้งน้ำมีปริมาณน้อยแรงดันน้ำที่จะส่งมาบ้านชาวบ้านมีไม่พอ และไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้าไปเพิ่มแรงดันน้ำมายังบ้านเรือน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ซึ่งตนคิดว่าบ้านเมืองเรา ณ ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านควรมีสาธารณูปโภคพื้นฐานครบทุกครัวเรือน

อย่างไรก็ผู้สื่อข่าวยังได้พูดคุยกับ ส.อบต.ปากแจ่ม (หมู่ที่ 6) โดยนายภักติยะ บุญธะรา  ส.อบต.ปากแจ่ม บอกว่า ในฐานะที่ตนเป็น ส.อบต. และ เป็นผู้เดือดร้อนด้วย ก่อนหน้านี้ตนได้นำเรื่องการขยายเขตไฟฟ้าเข้าแผนพัฒนาของ อบต.ปากแจ่ม แต่ติดปัญหาว่าที่ดินละแวกนี้มีข้อพิพาท บ.สัมปทานเหมืองแร่ในอดีต และไม่มีใครมาแสดงตัวเป็นเจ้าของ หรือ รับรองแนวเขต ว่าเป็นที่ดินของใคร ซึ่งหากไม่มีข้อสรุปตนจะนำเรื่องนี้เข้าข้อบัญญัติ ทำประชาคมชาวบ้าน ระดมความเห็นเพื่อพัฒนาทางสาธารณะป่าขี้ทราย และ ขอขยายเขตไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาได้สอบถามไปยังสำนักงานป่าไม้ และ บริษัทสัมปทานเหมืองแร่ ซึ่งทั้ง 2 แห่งให้คำตอบว่าไม่ได้เป็นที่ดินของเขา จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านโดยเร็ว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน