เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากหอประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรเยี่ยมชมการแสดงผลงานเครื่องโมบีสแกน (MobiiScan) ที่ทรงพระราชทาน และผลการดำเนินงานของศูนย์ตะวันฉาย ณ อาคารทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการส่วนพระองค์
โดยเมื่อรถยนต์พระที่นั่งถึงด้านหน้าอาคารทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในเวลา 14.00 น. นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสุเทพ มณีโชต รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ รศ.นพ. อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศ.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ศ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น รศ.อโนมา รัตนะเจริญธรรม รศ.พลากร สุรกุลประภา อ.พุทธธิดา วังศรีมงคล พร้อมด้วยคณาจารย์ ข้าราชการ พนักงาน และนักศึกษา เฝ้าฯ รับเสด็จ จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเสด็จเข้าสู่ห้องแสดงผลงานการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสนับสนุนและวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเยี่ยมชมการจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามลำดับ ดังนี้
1. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติลำรังสีทรงกรวยแบบเคลื่อนย้ายได้ ภายใต้ชื่อ MobiiScan (โมบีสแกน) ผลงานวิจัยและพัฒนาโดย และผลิตโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ซึ่งได้รับงบสนับสนุนจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานให้ศูนย์ตะวันฉาย โดยความร่วมมือของคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเครื่อง MobiiScan (โมบีสแกน) ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางด้านรังสีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทางด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และผ่านการทดสอบคลินิกเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 มีคุณสมบัติเด่น คือ เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ และผู้ป่วยได้รับปริมาณของรังสีที่น้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์ทั่วไป โดยใช้ถ่ายอวัยวะภายในบริเวณใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการผ่าตัดรักษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที ซึ่งเครื่อง MobiiScan (โมบีสแกน) นี้ ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งและเริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2565 ณ คลินิกทันตกรรมผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2. การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติเสมือนจริงจากภาพถ่ายรังสีทางการแพทย์ของผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาและการผ่าตัด ซึ่งข้อดีของการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัดผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น และสามารถคาดการณ์ผลการผ่าตัดได้แม่นยำมากขึ้น
3. โปรแกรม Thai Cleft Link เป็น Web application ที่สามารถใช้งานผ่าน Browser ทั่วไปเพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ โดยเชื่อมโยงการทำงานระหว่างทีมเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ในเชิงบูรณาการแบบสหวิทยาการ ซึ่งใช้ข้อมูลเดินทางแทนการเดินทางจริงของผู้ป่วย โดยทีมผู้รักษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน
4. การจัดแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงานของศูนย์ตะวันฉาย มีการจัดแสดงทั้งหมดจำนวน 6 บอร์ด ดังนี้
บอร์ดที่ 1 นิทรรศการผลการดำเนินงานในรอบ 20 ปี การดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ที่เข้ารับการรักษาในศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำหรับประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน
บอร์ดที่ 2 นิทรรศการผลงานการใช้เครื่องโมบีสแกน (MobiiScan) ในการวางแผนและประเมินผลลัพธ์การรักษาผ่าตัดปลูกถ่ายกระดูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่
บอร์ดที่ 3 นิทรรศการผลงานใช้นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสุขภาพ (Innovation of Digital Healthcare) ในการรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ด้วยระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
บอร์ดที่ 4 นิทรรศการผลงานการใช้อุปกรณ์ปรับแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ (Nasa Creator Device) เพื่อช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการผ่าตัดริมฝีปาก และแต่งจมูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่
บอร์ดที่ 5 นิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนากระดูกเทียมสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ในการรักษาผ่าตัดปลูกถ่ายกระดูกสำหรับผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่
บอร์ดที่ 6 นิทรรศการผลงานการใช้เครื่องมือปรับแต่งจมูกและสันกระดูกขากรรไกรระบบดิจิทัล (Digital KKU-NAM) เพื่อช่วยผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในช่วงแรกเกิด
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปยังด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา คณะทันตแพทยศาสตร์ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณะกรรมการบริหาร คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะกรรมการบริหารคณะแพทยศาสตร์ และคณะกรรมการบริหารศูนย์ตะวันฉาย จำนวน 4 ชุด พร้อมนี้ รศ.ดร.ทพญ.วรานุช ปิติพัฒน์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ และ รศ.นพ. อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึกผ้าไหมไทยจากอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สด็จฯ ออกจากอาคารอาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ คณะทันตแพทยศาสตร์ ทรงเยี่ยมชมต้นไม้ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปลูก เมื่อครั้งโดยเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคารในวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 14.45 น. โดยประทับรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังเรือนรับรอง สำนักงานชลประทานที่ 6 อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
ศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า เพื่อการดูแลผู้ที่ป่วยที่สมบูรณ์แบบครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการดำรงชีพ ด้านการเข้าสังคม และการเสริมสร้างพลังอำนาจ ด้วยการทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ ทั้งหมด 14 สาขา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นได้รับพระราชทานพระราชานุญาตในการจัดตั้งโครงการ “ตะวันฉาย” เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2546 นอกจากนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดศูนย์การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ณ อาคารคลินิกทันตกรรม 1 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ต่อมา ศูนย์ตะวันฉาย ได้จัดทำโครงการ “การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเสริมสร้างศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนินของศีรษะและใบหน้า” ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเครื่องโมบีสแกน (MobiiScan) เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าว ให้กับศูนย์ตะวันฉาย เพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย และการวิจัย ที่เข้ามารับการรักษาในศูนย์ตะวันฉาย มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยดำเนินการติดตั้งและเริ่มใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความก้าวหน้าในการใช้นวัตกรรมเพื่อตรวจรักษา และผ่าตัดแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นลำดับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
ข่าวน่าสนใจ:
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: