X

“หนังตะลุงเยาวชน” เรียนรู้ ฝึกซ้อมด้วยตัวเอง สืบสานศิลปวัฒนธรรม สร้างรายได้จุนเจือครอบครัว

ตรัง เยาวชนต้นแบบ สืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น น้อง ๆ เด็ก-เยาวชนอายุ 14-20 ปี รวมตัวกันตั้งคณะหนังตะลุง สร้างรายได้ระหว่างเรียน และ จุนเจือครอบครัว ซึ่งหนังตะลุงคณะนี้ฝึกปรือ เรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะใจรัก

เยาวชน นักเรียน กศน.ต.ปาแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ได้รวมตัวกับเด็กและเยาวชน ในตำบลปากแจ่ม ตั้งคณะหนังตะลุง “หนังลูกอาร์ม วัฒนธรรมสกุล” รับงานแสดง สร้างรายได้ระหว่างเรียน และ จุนเจือครอบครัว ซึ่งนอกจากการแสดงหนังตะลุงแล้ว น้อง ๆ กลุ่มนี้ยังสอนดนตรีให้กับเพื่อนๆในชุมชนที่สนใจอีกด้วย
โดยสมาชิกในคณะหนังตะลุงหนังลูกอาร์ม วัฒนธรรมสกุล ประกอบด้วย นายธนวัฒน์ เลี่ยมแก้ว อายุ 20 ปี (นายหนังตะลุง) นักเรียนระดับม.ปลาย กศน.ต.ปากแจ่ม นายกวิน มากชู อายุ 18 ปี นักเรียนระดับม.ปลาย กศน.ต.ปากแจ่ม นายธนากรณ์ ฤทธิ์ฉิม อายุ 15 ปี นักเรียน ม.3 ร.ร.บ้านคลองคุ้ย  นายชยพัทธ์ หนูแก้ว อายุ 18 ปี นักเรียนระดับม.ปลาย กศน.ต.ปากแจ่ม นายเกรียงไกร อินทร์สง อายุ 18 ปี นักเรียนระดับม.ปลาย กศน.ต.ปากแจ่ม และ ด.ช.ณรงค์ฤทธิ์ ฤทธิ์ฉิม อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 ร.ร.เทศบาลห้วยยอด

นายธนวัฒน์ เลี่ยมแก้ว (นายหนัง) อายุ 20 ปี บอกว่า ที่ได้มาเปิดคณะทำหนังตะลุงนั้นเกิดจากความชอบที่ตาเปิดให้ดูตั้งแต่เด็ก ๆ เปิดให้ฟังจากวิทยุบ้างจับโทรทัศน์บ้าง ซึ่งชอบมากเลยตัดสินใจมาทำคณะหนังตะลุงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 มาเป็นเวลาระยะเวลา 5 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ศึกษาเองมาจากดูแผ่นซีดีหนังตะลุงดัง ๆ เช่น คณะหนังน้องเดียว, คณะหนังอาจารย์ณรงค์ และตัดทำหนังตะลุงเอง ด้วยการเริ่มต้นวาดจากกระดาษ ตัวประมาณ 30 เซนติเมตรจนตอนนี้มีตัวหนังตะลุงแท้เป็นของตัวเองแล้ว ในส่วนของพวกเครื่องดนตรีต่าง ๆ ตัวเองก็ฝึกเองจนชำนาญและเล่นเองเป็นทั้งหมด ซึ่งงานที่รับก็ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทงานบวช งานช่วยเพื่อน ๆ ญาติ ๆ จ้างมา หรือไม่ก็เป็นงานที่เจ้าภาพแนะนำกันมาแบบปากต่อปาก

ปัจจุบันตอนนี้ตัวเองศึกษาเรียนอยู่กศน.ต.ปากแจ่ม จากนั้นก็ได้ชวนเพื่อนๆที่เรียน กศน.ด้วยกัน และเพื่อนจากโรงเรียนอื่น ๆ มาช่วยเล่นดนตรีให้ โดยตนเองเป็นคนสอนดนตรีให้กับพี่ๆเพื่อน ๆ ที่มาช่วยเล่นหนังตะลุงทั้งหมด จนตอนนี้มีสมาชิกในคณะโรงหนังตะลุงจำนวน 4-5 คนแล้ว แบ่งแยกหน้าที่กันชัดเจนมีทั้งมือกลอง มือกีต้าร์ มือเบส มือโหม่ง ฉิ่ง ทับ โดยเราว่างหลังจากเลิกเรียน กศน.ก็จะชวนกันมาซ้อมดนตรี ทำให้เพื่อน ๆ และตัวเองมีรายได้เสริม หากเป็นงานขอช่วยงบไม่มาก จะได้คนละ 200-300 บาท แต่หากได้รับงานเต็ม ๆ ก็จะได้คนละ 600-700 บาท แบ่งเป็นฝ่ายเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากล โดยเรื่องที่เล่นส่วนใหญ่ เป็นเรื่องราวแนวนิทานพื้นบ้านประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย มีสอดแทรกเสียดสีการเมือง เศรษฐกิจ และ มีมุขตลกขบขัน สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชม

ส่วนตนนั้นถือว่าการเล่นหนังตะลุงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้พอจะเลี้ยงดูตัวเองและน้อง และรายได้อีกส่วนก็ให้ยาย กับ ตา เพราะตนอยู่กับตาและยาย มาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เนื่องจากพ่อกับแม่เสียชีวิตไปแล้ว โดยตาทำอาชีพรับจ้างในโรงงานแปรรูปไม้ยาง ส่วนยายก็รับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ร้านขายของชำได้ค่าจ้างวันละ 100 บาท

นอกจากงานแสดงหนังตะลุงแล้ว นายธนวัฒน์ ยังรับซ่อมเครื่องใช่้ไฟฟ้า และเครื่องเสียง โดยวิชาช่างซ่อม นายธนวัฒน์ได้เรียนและศึกษาด้วยตัวเอง จากการอ่านหนังสือ หรือ การศึกษาจากยูทูบ

ซึ่งหากสนใจจ้างไปเล่นหนังตะลุงจะรับอยู่ที่ราคา 18,000 บาท รวมทั้งลูกคู่เครื่องดนตรี เครื่องเสียงเวที พร้อมเบ็ดเสร็จ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร 061-6757377 และ 062-2380377 หรือเฟสบุ๊ค “หนังลูกอาร์ม วัฒนธรรมสกุล”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน