สกว. ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า เดินทางสู่เมียนมา ร่วมหารือสร้างยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวข้ามพรมแดน พร้อมพัฒนาความร่วมมือ สร้างจุดเชื่อมโยงทางการท่องเที่ยว สู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา
คณะนักวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า นำโดย ผศ.ดร.ธงชัย ภูวนาถวิจิตร ผู้อำนวยการ แผนงานการพัฒนาและบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนไทยกับสหภาพเมียนมา พร้อมด้วย นายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาจารย์ฉัตรฉวี คงดี ผู้ประสานงานโครงการผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ นายสุชาครีย์ ศรีรัตน์ นักวิจัยโครงการ และกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางสู่ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายนถึง 2 ธันวาคม 2561
เพื่อเดินหน้าสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย-เมียนมา เนื่องจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้สนับสนุนการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อพัฒนาประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2560 เรื่อง “การพัฒนาและบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนไทยกับสหภาพเมียนมา”
ภายใต้แผนงานวิจัย การพัฒนาและบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานและองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนไทยกับสหภาพเมียนมา
จากการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสหภาพเมียนมาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักคือชาวเอเชีย ซึ่งเป็นชาวไทยมากที่สุด รองลงมาคือชาวจีนและญี่ปุ่น ตามลำดับ โดยเฉพาะการเดินทางของนักท่องเที่ยวผ่านจุดผ่านแดนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจาก 1.14 ล้านคน ในปี 2557 ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 1.94 ล้านคน และในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 3.37 ล้านคน (Ministry of Hotels and Tourism.(2011-2015)
ด้วยองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนไทยกับสหภาพเมียนมา และพื้นที่เชื่อมโยงเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวย่างกุ้ง –มัณฑะเลย์ ที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวหลักของสหภาพเมียนมาในปัจจุบัน ผ่านกลุ่มเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชั้นใน ได้แก่ ย่างกุ้ง หงสาวดี สิเรียม พุกาม มัณฑะเลย์ ตองยี ทะเลสาบอินเล ฯ ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐาน ที่พักร้านอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งอำนวยความสะดวกตลอดจนบริการเสริมทางการท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวมีความสวยงามมีจุดดึงดูดใจสูง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ เช่น มหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) เมืองย่างกุ้ง (Yangon) พระราชวังมัณฑะเลย์ (Mandalay Palace)และพระมหามัยมุนี (Mahamuni Buddha) เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) เป็นต้น
จากการประชุมร่วมในครั้งนี้ พบว่าสถานการณ์และแนวโน้มการท่องเที่ยวของเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากรัฐบาลใหม่สหภาพเมียนมาได้ปรับเปลี่ยนบรรยากาศการค้า การลงทุนและการบริการด้านการท่องเที่ยวให้สามารถเชื่อมโยงกับด่านชายแดนไทยผ่านด่านถาวรท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน – แม่สาย เชียงราย และด่านชายแดนถาวรตาก – เมียวดี สหภาพเมียนมา
รวมทั้งการเชื่อมเส้นทางสายการบินเชียงใหม่-ย่างกุ้ง และเชียงใหม่ –มัณฑะเลย์ ช่วยเพิ่มกำลังการชื้อของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่นิยมเข้ามาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในแหล่งท่องเที่ยวสหภาพเมียนมาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากปริมาณการลงทุนที่พัก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการขนส่ง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น
สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวข้ามพรมแดนระหว่างประเทศไทยและสหภาพเมียนมา ที่จะช่วยยกระดับการค้า การลงทุน และการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสู่การพัฒนาความร่วมมือในระดับสากล สนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และการกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศได้
ในโอกาสเดียวกันนี้ ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกว. ได้เดินทางสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและการจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนไทยกับสหภาพเมียนมาและพื้นที่เชื่อมโยงย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ เพื่อให้เห็นภาพรวมของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวเมียนมา
พร้อมทั้งศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวในย่างกุ้ง ด้วยการสำรวจเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ และพื้นที่เชื่อมโยงต่าง ๆ เช่น โบราณสถาน วัด เยี่ยมชมสะพานไม้อูเบ็งสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในโลก ดูการสาธิตทำทองคำเปลว การทอผ้าลายพื้นถิ่นของเมียนมาที่สืบทอดมายาวนาน
นอกจากนี้ ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า ยังได้เข้าร่วมการพบปะกับกลุ่มภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนไทยกับสหภาพเมียนมา (กลุ่ม CLMV) และกลุ่มกับผู้ประกอบการกลุ่ม (CLMV มัณฑะเลย์) ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับนาย U Kyaw Min ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา พร้อมด้วยกรรมการบริหาร และผู้ประกอบการท่องเที่ยวของมัณฑะเลย์ เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหภาพเมียนมา และเดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของอาเซียนในอนาคต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: