กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามผลกระทบปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ ให้เร่งเสนอ ถ้าจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่าน เผย รับรู้ความเดือดร้อนคนขับรถ ที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารมาก
วันที่ 13 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตามที่มีประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกโดยสาร และค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน ที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับให้จัดเก็บค่าโดยสารแท็กซี่อัตราใหม่ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามด้วยความห่วงใยประชาชนที่โดยสารรถแท็กซี่ ที่อาจมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ติดตามผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในภาพรวม พร้อมเสนอแนะมาตรการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ข่าวน่าสนใจ:
- ททท. จัดงานใหญ่ "วิจิตรเจ้าพระยา 2024" สวยงามตระการตา กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปีนี้
- กลุ่มผู้รับเหมาประกาศกฎเหล็กไม่ดำเนินงานต่อโครงการพลังงานสะอาด หาก UJV ไม่ชำระหนี้เก่าทั้งหมด
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- ททท.เชิญชม แสง สี สวยงามอลังการ “VIJIT CHAO PHRAYA 2024” วันนี้-15 ธค. ฟรี
โฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังรับรู้ถึงความเดือดร้อนของคนขับรถแท็กซี่ จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานและเชื้อเพลิง ส่งผลกระทบถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย ขณะที่ค่าจ้าง/ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ไม่ได้มีการปรับขึ้นมากว่า 8 ปีแล้ว จึงเป็นที่มาของการปรับค่าโดยสารครั้งนี้ พร้อมมีข้อสั่งการให้ กระทรวงคมนาคมไปกำกับดูแลเพิ่มเติมว่า เมื่อขึ้นราคาค่าโดยสารแท็กซี่แล้ว จะต้องปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะต้องเข้มงวดในเรื่องมารยาทของคนขับรถ ความปลอดภัย ความสะอาด ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร และต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด หากพบว่าแท็กซี่กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายที่กำหนดในเรื่องบทลงโทษต่อไปโดยไม่ละเว้น
โดยรายละเอียด ระบุถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร สำหรับ (1) กรณีรถยนต์รับจ้าง ที่มีลักษณะเป็นรถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน และรถยนต์นั่งสามตอนแวน ให้กำหนด ดังต่อไปนี้
ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 40.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
ส่วนกรณีรถยนต์รับจ้าง นอกจากข้อ (1) ให้กำหนด ดังต่อไปนี้
ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
นอกจากนี้ กรณีรถตาม (1) หรือ (2) ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้กำหนดอัตรานาทีละ 3.00 บาท ส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท และกรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยรถยนต์รับจ้างนั้นจอดรอคนโดยสารอยู่ในท่าอากาศยาน ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในอัตราค่าโดยสารอีก 50 บาท
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: