กรุงเทพฯ – รัฐบาล สั่งทุกหน่วยประสานงานบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด คนไทยเป็นนอมินีประกอบธุรกิจให้ต่างชาติ ระบุ โทษหนัก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท
วันที่ 16 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกังวล กรณีอาจมีนักท่องเที่ยวแอบแฝงเข้าทำธุรกิจหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขาย ฯลฯ ในรูปแบบการลงทุนผ่านนอมินี (ตัวแทน) นั้น
รัฐบาลจะติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการบูรณาการจากหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว สันติบาล และตำรวจในพื้นที่ (บช.น.) เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน จึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) ท้ายพระราชบัญญัติฯ ซึ่งทางอย่ากรมฯ มีมาตรการป้องปรามและตรวจการกระทำในลักษณะนอมินี ดังนี้
– ขั้นตอนการจดทะเบียน กำหนดให้คนไทยที่ร่วมลงทุนในนิติบุคคลต้องแสดงหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินที่แสดงว่ามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะลงทุนในนิติบุคคลได้
– เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะตรวจสอบว่า ใช้คนไทยถือหุ้นแทนหรือกระทำการในลักษณะนอมินีเพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ โดยเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงรวมทั้งพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตรวจสอบ ปัจจุบันกรมฯ ได้จัดทำเป็นแผนงานตรวจสอบประจำปีซึ่งธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในแผนงานตรวจสอบด้วย
– กรณีการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจคนเดียว ซึ่งคนต่างชาติไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งหากพบว่ามีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานและของกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งหากพบคนไทยมีการจดทะเบียนพาณิชย์แทนคนต่างด้าวก็จะมีความผิดในลักษณะนอมินีด้วย
นางสาวรัชดา เน้นย้ำว่า คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทย เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
มากไปกว่านั้น คนต่างด้าว เมื่อเข้ามาในประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 หากฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญาและมาตรการห้ามเข้าประเทศต่อไป อีกทั้งนายจ้างหรือผู้รับคนต่างด้าวเข้าพักจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ ที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: