กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี ย้ำเตือนประชาชน ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน ระมัดระวังอย่าติดตั้งแอปพลิเคชัน แฝงมัลแวร์ ทำมิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรม สูญเสียเงินในบัญชีทั้งหมดได้ พร้อมให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป้องกันและแก้ไขปัญหา
วันที่่19 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กรณีพบผู้เสียหายถูกดูดข้อมูลและโอนเงินออกจากบัญชี เนื่องจากมิจฉาชีพหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ทำให้มิจฉาชีพล่วงรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า และสามารถควบคุมเครื่องโทรศัพท์เพื่อสวมรอยทำธุรกรรมแทนจากระยะไกล เพื่อโอนเงินออกจากบัญชีนั้น
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยอย่างมาก ฝากย้ำเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ต้องรู้เท่าทัน ศึกษาเรียนรู้และติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับใช้กับตนเอง และป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากเหล่ามิจฉาชีพและผู้ไม่ประสงค์ดีในการหลอกลวงนำข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ที่จะทำให้ประชาชนสูญเสียทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สินได้ โดยเฉพาะขณะนี้พบว่ามิจฉาชีพมีวิธีการหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ ทั้งการส่ง SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และแอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีการหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ จนถูกดูดข้อมูลและโอนเงินออกจากบัญชีไป ดังนั้น การที่จะเข้าไปโหลดหรือติดตั้งแอปฯต่าง ๆ ต้องระมัดระวังและตรวจสอบให้ดีก่อนดำเนินการ
นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ล่าสุด ธปท. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมาตรการต่าง ๆ ให้สถาบันการเงิน ปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยบน Mobile Banking อย่างต่อเนื่อง, ปิดกั้นเว็บไซต์หลอกลวง และตัดการเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มิจฉาชีพใช้ควบคุมเครื่องผู้เสียหายจากระยะไกล, แก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง ที่แอบอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน, จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์เพื่อให้ประชาชนแจ้งความได้สะดวกและอายัดบัญชีได้รวดเร็วขึ้น และประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ แจ้งเตือนภัย และให้คำแนะนำประชาชนอย่างต่อเนื่อง
พร้อมขอความร่วมมือประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยสามารถป้องกันภัยในเบื้องต้นได้ ดังนี้
1.ไม่คลิกลิงก์จาก SMS LINE และอีเมลที่มีแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักหรือไม่น่าเชื่อถือ
2.ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรม นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store อาทิ Play Store หรือ App Store เท่านั้น
3.อัปเดต Mobile Banking ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ หรือตั้งค่าให้มีการอัปเดตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะมีมาตรการป้องกันการควบคุมเครื่องทางไกลรวมถึงมีการปรับปรุงพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ
4.ไม่ใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือที่ไม่ปลอดภัยมาทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เครื่องที่ปลดล็อก (root/jailbreak) เพื่อให้สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ ก็ได้ หรือใช้เครื่องที่มีระบบปฏิบัติการล้าสมัย เป็นต้น
5.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้การติดตามแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติ สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งาน เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ธปท. ยังย้ำให้สถาบันการเงินมีมาตรการดูแลลูกค้าทุกรายอย่างเต็มที่ ตามขั้นตอนปฏิบัติที่กำหนด หากได้ตรวจสอบและพิสูจน์พบว่าลูกค้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ข้อมูลส่วนตัว สถาบันการเงินต้องรีบพิจารณาช่วยเหลือและดูแลความเสียหายของลูกค้าโดยเร็วภายใน 5 วัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: