สระแก้ว – เกษตรกร จ.สระแก้ว ยังเผาอ้อยกระจายทั่วพื้นที่ ส่งผลคุณภาพอากาศพื้นที่ จ.สระแก้ว ขึ้นไปอยู่ที่ระดับสีส้ม 111 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วน ผู้ว่าฯสระแก้ว เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) และสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา จ.สระแก้ว
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณไร่อ้อยในพื้นที่ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ยังพบเกษตรกรชาวไร่อ้อยหลายราย ยังใช้วิธีการเผาไร่อ้อย เพื่อความสะดวกในการตัดอ้อยเข้าโรงงาน เนื่องจากไม่สามารถนำรถตัดอ้อยเข้าดำเนินการได้ ขณะเดียวกัน รถตัดอ้อยในพื้นที่ยังมีไม่เพียงพอ เพื่อความรวดเร็วสำหรับแรงงานตัดอ้อยชาวกัมพูชา ผู้รับเหมาตัดอ้อย จึงใช้วิธีการเผาไร่อ้อยเพื่อความสะดวก ทั้งนี้ ในช่วงเย็นของทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น.-20.00 น.และช่วงเช้าตั้งแต่ 05.00-06.00 น.จะพบเห็นพื้นที่ปลูกอ้อยในเขต อ.วังสมบูรณ์ อ.วังน้ำเย็น อ.คลองหาด และ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว จุดไฟเผาไร่อ้อยเป็นจุด ๆ ทั่วทั้งพื้นที่ โดยจะมองเห็นกลุ่มควันจากการเผากระจายทั่วบริเวณ และบ้านเรือนที่อยู่ใกล้กับรัศมีการเผา จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองจากการเผาอ้อยทุกวัน ตั้งแต่เริ่มมีการเปิดหีบอ้อยของโรงงาน ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.65 เป็นต้นมา ซึ่งจะเป็นลักษณะนี้ไปจนกระทั่งโรงงานปิดหีบอ้อย ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน
โดยล่าสุด ข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ จากเวปไซด์ Air4Thai และเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่สวนกาญจนาภิเษก ร.9 (ฝั่งสวนหิน) ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ, สระแก้ว รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ สวนกาญจนาภิเษก ร.9 (ฝั่งสวนหิน) ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ, สระแก้ว พบว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่ จ.สระแก้ว เมื่อเวลา 05.00 น.วันนี้ (24 ม.ค.66) มีค่าเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ ระดับสีส้ม 111 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะเดียวกัน สถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่ ภาคตะวันออก พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพอากาศดีมาก ถึง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐาน ได้แก่ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง
ข่าวน่าสนใจ:
- ทุบกระจกหนีตาย ดินสไลด์บ้านพังตกแม่น้ำบางปะกง เดือดร้อน 5 ครัวเรือน
- โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เพื่อเกษตรกรพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการบริการทางวิชาการและได้รับการแก้ปัญหาด้านการเกษตรอย่างครบวงจร
- ตรวจยึดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ชายแดนไทย-กัมพูชา กว่า 9,844 รายการ จ.สระแก้ว
- จัดกิจกรรม โครงการ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน พื้นที่ อ.คลองหาด
ขณะเดียวกัน นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ได้เป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.เครือข่าย) และแปลงใหญ่อ้อย ตำบลสระขวัญ หมู่ที่ 19 บ้านหนองโสน ตำบลสระขวัญ อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี นายประจักร์ ประสงค์สุข เกษตรจังหวัดสระแก้ว นายอำเภอเมืองสระแก้ว หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรอำเภอทุกอำเภอ คณะกรรมการ ศพก. คณะกรรมการแปลงใหญ่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระขวัญ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกร ร่วมพิธีเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) และสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา ปี 2566
ทั้งนี้ นายปริญญา กล่าวว่า จากสถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ในขณะเดียวกัน เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ยังมีการผลิตและการจำหน่ายสินค้าเกษตร ตลอดจนโอกาสการเข้าถึงข้อมูล แหล่งทุน ทรัพยากร และการตลาดน้อย และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เกษตรกรยังทำการเกษตรในลักษณะต่างคนต่างทำ ผลิตสินค้าไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขาดการรวมกลุ่ม จึงทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิต
ซึ่งจากสภาพปัญหาดังกล่าว รัฐบาลมีความตระหนักและเข้าใจในปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรต้องเผชิญอยู่ จึงมีนโยบายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสินค้าหลัก และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) โดยมีองค์ประกอบของศูนย์ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบ แปลงเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้สำหรับองค์ความรู้ที่มีอยู่ในศูนย์เรียนรู้ ฯ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่หน่วยงานราชการส่งเสริม กับภูมิปัญญาของเกษตรกร และได้มีการประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมอย่างเฉพาะเจาะจง กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ และศูนย์เครือข่ายของศูนย์เรียนรู้
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานภาคเอกชน บูรณาการ การทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมของพี่น้องเกษตรกร ก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ประจำปี 2566 ตลอดจนสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลเสียที่จะได้รับจากการเผาในพื้นที่การเกษตร และแนวทางการจัดการพื้นที่เกษตรและเศษวัสดุทางการเกษตร ทดแทนการเผา รวมทั้งเป็นช่องทางแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรประกอบการตัดสินใจลงทุนจัดหาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการผลิต เพื่อก้าวไปสู่การผลิตแบบมืออาชีพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้นเกษตรกรเกษตรแปลงใหญ่ ได้กล่าวปฏิญาณตนว่า จะไม่เผาอ้อยทำตามสัญญาของจังหวัดสระแก้ว ด้วย
—————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: