ตรัง-วิทยาลัยเทคนิคตรัง เจ๋ง ประสบความสำเร็จต่อเนื่องในการคิดวิจัยนำน้ำยางสดมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อพัฒนายกระดับอาชีพช่วยเหลือเกษตรกร ล่าสุด ทำหนังกลองเด็กเล่น และพัฒนาเป็นหนังกลองชุดใช้งานได้จริง จนปัจจุบันถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บริษัทเอกชนนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายได้สำเร็จ
ที่แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง จ.ตรัง อาจารย์ประจำแผนกร่วมกับน้องนักศึกษา ได้สาธิตการนำน้ำยางสดมาทำหนังกลองสำหรับใช้ในงานดนตรี ที่ทางแผนกสามารถคิดค้นวิจัยสูตรจนประสบความสำเร็จ โดยสามารถนำไปหุ้มทำเป็นกลองชุด และใช้งานได้จริง ราคาถูก ในอนาคตหวังช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง หากนำน้ำยางสดไปใช้ทำผลิตภัณฑ์หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้มากขึ้น จะช่วยเหลือชาวสวนให้ราคายางดีขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว
โดยนางสาวมาลินี เห้งสีป้อง อาจารย์แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ บอกเล่าวิธีการทำหนังกลองว่า เริ่มจากการจัดเตรียมน้ำยางคอมพาวน์ผสมด้วยสีที่ต้องการ อยากได้กลองสีอะไรก็ใช้สีได้ตามที่ต้องการ จากนั้นนำไปเทใส่ผ้าขาวบาง เพื่อกรองเอาตะกอนหรือสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนออกไป จากนั้นตักน้ำยางราดลงไปบนผ้าดิบที่ขึงเตรียมไว้ หรืออาจจะเป็นการฉีดพ่นก็ได้ หรือ ราดก็ได้ หรือจุ่มลงไปในถังน้ำยางที่ผสมเตรียมไว้ก็ได้ เมื่อราดรอบที่ 1 เต็มผืนผ้าเสร็จแล้ว ต้องสังเกตุดูอย่าให้มีฟองเกิดขึ้นบนผืนผ้า หากมีฟองก็ต้องจิ้มให้ฟองแตกไป เมื่อราดน้ำยางเต็มผืนผ้าแล้วก็ใช้ไดร์เป่าผม นำไปเป่าพอให้หมาดๆ จากนั้นก็ราดซ้ำ ทำสลับกันแบบนี้ทั้งหมด 3 รอบ เพื่อให้น้ำยางคอมพาวด์ (rubber compound คือ ยางที่มีการผสมสารเคมีต่างๆ เช่น สารวัลคาไนซ์ สารตัวเร่ง ปฏิกิริยา สารตัวเติม เป็นต้น ) ซึมเข้าไปในผืนผ้าและยึดติดแน่น จากนั้นนำไปเข้าเตาอบ ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือหากใช้อุณหภูมิที่ 100 องศา จะใช้เวลาอบประมาณ 15 นาที เมื่ออบแล้วเสร็จก็นำไปแกะออกจากที่ขึง จากนั้นนำไปทาบกับกลองแล้วตัดแต่งให้ได้ขนาดกับหน้ากลอง จากนั้นก็เอาไปหุ้มกลองให้แข็งแรง เมื่อหุ้มเสร็จแล้วก็สามารถตีทดสอบเสียงได้
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง ราคายางดิ่งกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม กยท.หนุนสถาบันทำโครงการชะลอยางสู้นายทุน
- ตรัง ทดลองล้อมคอกหญ้าทะเล เร่งหาทางออกฟื้นฟูหญ้าทะเล ภาระกิจด่วนทำแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่กับความอยู่รอดของพะยูน
- ตรัง อึ้ง!! เด็ก-เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษากว่า 6 พันคน ศึกษาธิการตรังสั่งรวบรวม-วิเคราะห์ข้อมูล รับนโยบาย Thailand zero dropout
- ตรัง จากสวนปาล์มตรังสู่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานต้นแบบ ขุดสระน้ำเป็นรูปเลข 9 อารบิก สอดคล้องกับแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9
นายสุรศักดิ์ เทพทอง หัวหน้าแผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง กล่าวว่า ความสำเร็จในการคิดวิจัยการทำกลอง เริ่มต้นจากได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ตั้งแต่ปี 2550 โดยที่ได้ทำความร่วมมือกับบริษัท แปลน ทอยส์ จำกัด. ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและส่งออกเกี่ยวกับของเล่นเด็กรายใหญ่ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ จ.ตรัง เพื่อจะทำกลองเป็นของเด็กเล่นโดยทางวิทยาลัยได้ทำการวิจัยจนกระทั่งประสบความสำเร็จได้กลองเป็นของเด็กเล่นแล้วบริษัท แปลนทอย นำไปผลิตกลองเด็กเล่นไปจำหน่าย ซึ่งตั้งแต่นั้นมากลองเด็กเล่นของบริษัทแปลนทอย ก็กลายเป็น 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุด หลังจากนั้นตนเองก็คิดว่าจากกลองเด็กเล่น น่าจะทำเป็นกลองดนตรีใช้งานจริงได้ จึงลองศึกษาว่ากลองดนตรีจริงทำงานแบบไหน เสียงดังแบบไหน จากนั้นจึงต่อยอดในการศึกษาวิจัยและทดลองเพิ่มเติมอีก 1 ปี ทั้งการทดลองเลือกใช้ผ้าชนิดต่างๆ การคิดค้นสูตรผสมน้ำยาง การเคลือบน้ำยางลงบนผ้า จนกระทั่งประสบความสำเร็จได้กลองที่มีคุณภาพ มีความแข็งแรง เคลือบน้ำยางได้ติดแน่น จากนั้นทดลองทำให้นักดนตรีจริงเอาไปใช้จริงที่สถานบันเทิง ปรากฏว่าทดลองใช้แล้วทุกคนก็บอกว่า คุณภาพดีใช้งานได้แต่มีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่ว่า อาจจะมีการปรับแต่งเสียง หรือขันน็อตให้ตึงทุก ๆ 2 ชม. อาจจะยุ่งยากในการปรับแต่งเสียงทุกๆ 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ราคาถูกกว่า คุณภาพดีเช่นเดียวกัน ทุกคนยอมรับว่าดังแน่นใช้ได้
ซึ่งกลองทั่วไปนั้นจะมี 2 แบบ คือ กลองที่จากหนัง แต่ไม่ค่อยนิยม และกลองที่ทำจากพลาสติกหรือโพลิเมอร์ ก็แล้วแต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพ แต่ของผลิตภัณฑ์ของเราทำจากน้ำยางพารา 100% ใช้ในการเคลือบผ้า และราคาถูกกว่ากลองที่ทำจากพลาสติกประมาณสามเท่าตัว ก็เลยเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ราคาถูกกว่า หากนำไปหุ้มทำเป็นกลองชุดราคาโดยรวมไม่เกิน 20,000 บาท แต่ถ้าแยกซื้อเป็นชิ้นตามขนาดชิ้นละไม่เกิน 500 บาท แต่ถ้าเป็นพวกพลาสติกชิ้นละประมาณ 1,500 – 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ซึ่งเมื่อก่อนทางแผนกทำขาย แต่ขณะนี้ไม่ได้ทำในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากว่าอยากจะให้สถานประกอบการเป็นคนมารับช่วง โดยทางสถาบันเป็นนักวิจัยประสบความสำเร็จแล้วก็ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สำหรับคนที่สนใจจะนำไปผลิตโดยจะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เท่านั้น หากใครหรือสถาบันเกษตรกรไหน สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ อาจารย์สุรศักดิ์ เทพทอง 083 -5395456
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: