ตรัง เกษตรกรใช้พื้นที่ร่องยางปลูกสับปะรดฉีกตารายแรกในตรัง สร้างรายได้ 2 แสนบาทต่อปี รสชาติหอมหวานอร่อย เป็นการจัดสรรพื้นที่ ให้คุ้มค่าอย่างเต็มที่ และสามารถพึ่งพาตนเองได้
นายนิกร ชิดเชื้อ เกษตรอำเภอวังวิเศษ พร้อมด้วยผู้สื่อข่าว ลงพื้นที่เยี่ยมชม แปลงสับปะรดฉีกตา ที่ปลูกแซมในร่องยางพาราบนเนื้อที่เกือบ 2 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 6 บ้านพรุใหญ่ ตำบลอ่าวตง อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแปลงสับปะรดฉีกตา ของนายสายชลและนางปรีดา น้อย อายุ 55 ปี สองสามีภรรยา โดยอาชีพหลักของทั้งคู่ทำสวนยางพารา
โดยนายสายชล ได้เก็บสับปะรด และให้เจ้าหน้าที่เกษตรพร้อมผู้สื่อข่าวได้ลองชิมสับปะรดที่ตนเองปลูก ซึ่งเป็นสับปะรดฉีกตาสายพันธุ์เพชรบุรี แต่ละลูก มีน้ำหนักสูงสุด 2.5 กิโลกรัม เนื้อสีเหลือง รสชาติที่หอมหวาน อร่อย ในแต่ละปีจะเก็บผลผลิตประมาณ 3,000 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 30 บาท มีรายได้ต่อร่วม 200,000 บาทเลยทีเดียว
นายสายชล บอกว่า เมื่อ 8 ปี ที่แล้วได้พันธุ์สับปะรดฉีกตามาจากจังหวัดน่าน เป็นสายพันธุ์เพชรบุรี หรือสับปะรดฉีกตาโดยขอแบ่งซื้อมาแค่ 10 หน่อ หน่อละ 20 บาท จากนั้นได้นำมาขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันปลูกสับปะรดฉีกตา จำนวน 6,000 หน่อ มีสองรุ่น คือ 2,000 หน่อ อายุ 1 ปี 4 เดือน 4,000 หน่อ อายุ 3 เดือน ปีนี้คาดว่าจะสร้างรายได้ 200,000 บาทต่อปี และตอนนี้ ตนเองรู้สึกว่าประสบความสำเร็จไปแล้ว 50% ส่วนรายได้พออยู่ได้ ดูแลไม่ยาก น้ำหนักแต่ละลูกเฉลี่ย 2-2.5 กิโลกรัม รสชาติหวานทานแล้วติดใจ โดยจะขายราคาส่งกิโลกรัมละ 25 บาท หากขายปลีกกิโลกรัมละ 30 บาท และตอนนี้ก็เริ่มมีขายออกเรื่อย ๆ ประมาณ 2,000 ลูก จำนวน 2 รุ่น คาดว่าผลผลิตออกต่อเนื่องจากนี้อีก 1 เดือน หากสนใจโทรสั่งได้ที่เบอร์ 0937507508
นายนิกร ชิดเชื้อ เกษตรอำเภอวังวิเศษ บอกว่า ในส่วนของสำนักงานเกษตรอำเภอวังวิเศษ ก็ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ หันมาสนใจในเรื่องของพืชทางเลือกใหม่ ที่สามารถจะปลูกแซมในสวนยางพาราหรือปาล์มน้ำมันได้ ในช่วงที่พืชหลักยังไม่ได้รับผลผลิต เราได้เน้นในเรื่องของรายได้ ของพี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะเอาพืชทางเลือกใหม่ เช่นสับปะรด หรือว่าข้าวไร่ หรือพืชผักที่สร้างรายได้ โดยยกตัวอย่าง นายสายชล น้อย ซึ่งเกษตรกรรายนี้เป็นเกษตรหัวก้าวหน้า ซึ่งได้นำสับปะรดฉีกตาพันธุ์เพชรบุรี เป็นสับปะรดที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และปลูกง่ายด้วย ในสภาพทนแล้ง ซึ่งสับปะรดพันธุ์นี้สร้างรายได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เพราะภาคใต้เราส่วนใหญ่จะเน้นปลูกสายพันธุ์ภูเก็ต สายพันธุ์ปัตตาเวีย แต่เกษตรกรรายนี้ ได้รวบรวมหน่อพันธุ์ไว้ประมาณ 8 ปี และขยายปลูกเพิ่มขณะนี้เกือบ 2 ไร่ ซึ่งผลผลิตปีที่แล้วได้ประมาณ 3 ตัน ขายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งหากสายพันธุ์นี้ปลูกในภาคเหนือจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท และเกษตรกรรายนี้เป็นเกษตรกรรายใหม่ และเปิดตลาดใหม่ในพื้นที่สภาพของจังหวัดตรัง ที่ยังไม่มีผลผลิตของสายพันธุ์นี้ในจังหวัดตรัง ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของเกษตรกรที่สนใจที่จะปลูกเป็นพืชที่ปลูกแซมในสวนยางพาราสามารถที่จะสร้างรายได้ โดยจัดสรรพื้นที่ ให้คุ้มค่าอย่างเต็มที่ และสามารถพึ่งพาตนเองได้
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: