ปัตตานี – แม่ทัพภาคที่ 4 เดินหน้าขับเคลื่อนระบบการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดให้รักษากระจายไปทุกจังหวัดชายแดนใต้
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 /ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมคณะลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการบำบัดรักษาเนื่องจากมีพฤติกรรมก้าวร้าว มีอาการทางจิตเวช หรือคุ้มคลั่ง สร้างความเดือดร้อนแก่ครอบครัวและสังคมจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วนของแม่ทัพภาคที่ 4 ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกรูปแบบ ทั้งการป้องกันปราบปราม ตัดวงจรผู้ค้า ทั้งรายใหญ่รายย่อย นำผู้เสพผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการรุนแรงต้องนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี,ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เข้าร่วมประชุม และร่วมหารือแนวทางการ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะการนำผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยในอนาคตมีแผนขยายสถานที่เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องขยายสถานที่สำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยหลังจากผ่านการบำบัดรักษาที่มีอาการดีขึ้น เพื่อลดอัตราการครองเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล ก่อนส่งกลับบ้านคืนสู่สังคม
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 และคณะได้เข้าไปเยี่ยมพบปะพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการรักษา และมอบกระเช้าเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้สามารถเอาชนะยาเสพติดได้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมและไม่หันมายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก และในโอกาสนี้ผู้ป่วยยาเสพติดได้ร่วมกันขับร้องเพลง “คนไม่เอาถ่าน” แทนคำขอบคุณที่แม่ทัพภาคที่ 4 และคณะที่ได้มาเยี่ยม จากนั้นคณะได้ไปพบปะสอบถามให้กำลังใจญาติและครอบครัว ที่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่นำผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการรักษา ทั้งยังได้มอบกระเช้าแก่ญาติครอบครัวอีกด้วย สร้างความตื้นตันใจแก่ญาติและครอบครัวผู้ป่วยยาเสพเป็นอย่างมาก ก่อนเดินทางกลับ แม่ทัพภาคที่4 และคณะยังได้ไปเยี่ยมชมสถานฝึกอาชีพภายในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับฝึกอาชีพให้กับผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา อาการดีขึ้นให้ได้มีอาชีพติดตัวเมื่อกลับไปยังชุมชน
พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า โครงการนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมกับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี ได้รับผู้ป่วยยาเสพติดจากจังหวัดต่างๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ กระบวนการรักษาและจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยทั้งหมดโดยเฉพาะผู้ป่วยก้าวร้าวที่เข้ามารักษาจากวันนั้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาสามเดือนผู้ป่วยอาการดีขึ้นเป็นลำดับ ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกับสนับสนุนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด และ วันนี้ได้เห็นความสบายใจ ได้เห็นแววตาแห่งความสุขของผู้ปกครอง และได้เห็นน้ำตาแห่งความดีใจของญาติ ที่ได้เห็นคนในครอบครัวมีสภาพร่างกายที่ดีขึ้น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ที่สามารถคลายความทุกข์ใจให้กับประชาชน และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ครั้งนี้
สำหรับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลด้านการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด เริ่มก่อตั้ง และให้บริการตั้งแต่ ปี2539 โดยให้บริการผู้ป่วยทั้งประเภทสมัครใจ และบังคับบำบัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ป่วยจะได้รับการบำบัดรักษาด้านยาเสพติด ด้วยองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณี และวัฒนธรรมในพื้นที่ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการทุกท่านจะได้รับการดูแลดุจญาติมิตร เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดปัญหาการเจ็บป่วยจากการใช้ยาเสพติด โดยโรงพยาบาลธัญลักษณ์ปัตตานีรับผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดเฉลี่ยปีละ 700-800 ต่อคนต่อครั้ง ทั้งที่สมัครใจและตามกฎหมายใหม่ โดยมีการใช้สารเสพติดทั้งยาบ้า กัญชา ไอซ์ และเฮโรอีน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการก้าวร้าว เข้ารับการบำบัดรักษาอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 30 ราย ซึ่งอนาคตมีแผนการขับเคลื่อนระบบการบำบัดรักษากระจายไปทุกจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อการรักษาผู้ติดยาได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีแพทย์หญิงนริศรา งามขจรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
จากการดูแลเอาใจใส่ของโรงพยายาล สภาพของผู้ป่วยดูดีขึ้นตามลำดับ เห็นสภาพร่างกาย รอยยิ้ม แม้เปื้อนด้วยน้ำตาแต่ก็เป็นน้ำตาแห่งความความหวัง ความสุข ที่รอคนรักกลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้ง ส่วนด้านสถานที่ฟื้นฟูหลังบำบัดเสร็จก่อนส่งกลับชุมชนตอนนี้ได้รับการสนับสนุนสถานที่จากจังหวัดปัตตานี ด้วยการประสานความร่วมมือของทีมงานต่าง ๆ เชื่อว่าอีกไม่กี่อึดใจเราจะได้สถานที่เพื่อแบ่งเบาภาระด้านการดูแลหลังบำบัดของโรงพยาบาล ให้เป็น “สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยเครือข่ายที่สามารถรองรับได้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ก่อนพาผู้ป่วยกลับสู่ชุมชน.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: