ตรัง–ผู้ประกอบร้านอาหารในจ.ตรังแบกรับค่าไฟฟ้าแพงต่อเนื่องไม่ไหว ยอมลงทุนติดตั้งโซล่าร์เซลล์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม คาดจะสามารถลดค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนได้มากถึง 40% พร้อมขอรัฐบาลเปิดกว้างให้เจ้าของกิจการทุกประเภท หากติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้สามารถขายคืนไฟที่เหลือให้กับการไฟฟ้าได้ เช่นเดียวกับประเภทที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือก ลดต้นทุนการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยรัฐประหยัดพลังงาน
ที่ร้านอาหารมาเจอนี่ ต.โคกหล่อ อ.เมืองตรัง ซึ่งเป็นร้านอาหารและร้านกาแฟ เปิดให้บริการตั้งแต่ 11.00-19.00 น. นายสักขฉัฐ เชี่ยวภู่ เจ้าของร้าน บอกว่า ปกติภายในร้านจะใช้พลังงานหลัก 2 ประเภท คือ พลังงานไฟฟ้า ซึ่งใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด รวมทั้งเครื่องปรับอากาศภายในอาคาร และพลังงานจากก๊าซหุงต้ม LPG สำหรับการประกอบอาหาร ซึ่งในตอนกลางวันก็ต้องมีการเปิดไฟทั้งบริเวณภายในอาคาร เพื่อให้มีแสงสว่างเพียงพอ และเพื่อความสวยงาม รวมทั้งบริเวณด้านนอก ทางเชื่อม หรือจุดที่เป็นมุมอับมีต้นไม้บดบังแสงแดด ก็ต้องเปิดไฟ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ลูกค้าหรือประชาชนที่ผ่านไปมาได้รู้ว่าร้านเปิดตามปกติ จึงจำเป็นต้องเปิดไฟส่องสว่างเอาไว้ แต่ทั้งนี้ ทางร้านพยายามลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้าทุกทาง เช่น หลอดไฟยาวเปลี่ยนมาเป็นหลอดประหยัดพลังงาน LED ทั้งหมด ส่วนของหม้อหุงข้าวซึ่งมีทั้งใบเล็ก ใบใหญ่ ใช้กับไฟฟ้า และใช้กับหุงกับก๊าซด้วย
โดยหากกรณีลูกค้าจำนวนมาก และต้องการความเร่งด่วน จะหุงด้วยหม้อใบใหญ่ที่ใช้ก๊าซหุงต้ม เพราะเร็วและประหยัดกว่าการหุงด้วยไฟฟ้า เพื่อประหยัดพลังงาน และล่าสุด ขณะนี้ได้มีการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาอาคารเต็มพื้นที่รวมจำนวน 22 แผง กำลังการผลิตจำนวน 12 กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถตรวจสอบกำลังการผลิตไฟของระบบโซล่าร์เซลล์ ปริมาณความต้องการใช้ไฟทั้งหมด และปริมาณไฟที่ต้องดึงจากการไฟฟ้า ผ่านแอปพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือแบบเรียลไทม์ สามารถทราบปริมาณการผลิตและการใช้ได้ตลอดเวลา เช่น ในครั้งนี้ตรวจสอบทางแอปมือถือพบว่า ภายในอาคารต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 14.7 กิโลวัตต์ โซลาเซลผลิตได้ประมาณ 10.5 กิโลวัตต์ ไม่เพียงพอต้องดึงจากการไฟฟ้าอยู่จำนวน 4.2 กิโลวัตต์ เป็นต้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าตัวเลขที่โชว์ดังกล่าว คาดจะสามารถประหยัดไฟฟ้าจากการไฟฟ้าได้เกือบครึ่งหรือประมาณ 40 % นั่นหมายความว่าแต่ละเดือนจะสามารถประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 40% โดยปกติจ่ายอยู่ประมาณเดือนละ 25,000 บาท ถ้าลดค่าไฟได้เหลือเดือนละ 15,000 บาท ก็เท่ากับลดค่าไฟได้เดือนละ 10,000 บาท หรือประหยัดได้ปีละ 120,000 บาท
ทั้งนี้ ทั้งร้านต้องการใช้ไฟประมาณ 16 กิโลวัตต์ ทำให้ขาดไฟอีกประมาณ 4 กิโลวัตต์ จึงรอดูว่าบิลค่าไฟนับจากนั้นประมาณ 3-4 เดือน หากประหยัดได้ตามเป้า ก็จะขยายส่วนหลังคาเพิ่ม เพื่อให้สามารถติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ได้เพิ่มตามจำนวนปริมาณต้องการใช้ จะได้ไม่ต้องใช้ไฟจากการไฟฟ้า และขณะนี้ระบบควบคุมการทำงานของโซลาร์เซลที่ติดตั้งรองรับอนาคต สามารถใช้แบตเตอรี่ให้สามารถเก็บไฟไว้ใช้ตอนกลางคืนได้ด้วย ทั้งนี้ สำหรับค่าไฟฟ้าที่ทางร้านต้องจ่าย ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ปรับขึ้นขึ้นค่า FT จ่ายเดือนละ 22,000 – 23,000 บาท แต่พอมีการปรับค่า FT ขึ้น ทำให้ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 26,000 – 28,000 บาท โดยระบบโซลาเซลที่ติดตั้งครั้งนี้ ลงทุนไปจำนวน 450,000 บาท คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปี แต่อายุการใช้งานแผงโซล่าเซลล์ประมาณ 20 ปี ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของร้านได้
ข่าวน่าสนใจ:
ส่วนค่าก๊าซหุงต้ม ทางร้านต้องมีถังสำรองรวม 8 ถังๆละ 35 ลิตร ต้องเปลี่ยนทุกๆ 2-3 วันถัง หรือสัปดาห์ละประมาณ 2 ถัง เพราะต้องใช้กับหัวก๊าซประมาณ 15 หัว แต่ละเดือนต้องจ่ายค่าก๊าซเดือนละประมาณ 12,000 บาท และนับตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป จะมีการปรับค่าก๊าซขึ้นอีก กก.ละ 1 บาท ก็จะยิ่งเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการอีก ขณะที่ค่าวัตถุดิบอื่นๆทั้ง หมู ไก่ พืช ผัก เครื่องปรุงจำเป็นมีการปรับราคาขึ้นทั้งหมด แต่เมนูอาหารทางร้านยังคงต้องตรึงราคาเดิม เพราะไม่อยากเพิ่มภาระให้ลูกค้า พร้อมขอรัฐบาลเปิดกว้างให้เจ้าของกิจการทุกประเภท รวมทั้งร้านค้า หรือกิจการเชิงพาณิชน์เช่นของตน หากติดตั้งโซลาเซลให้สามารถขายคืนไฟที่เหลือให้กับการไฟฟ้าได้ เช่นเดียวกับประเภทที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือก ลดต้นทุนการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยรัฐประหยัดพลังงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: