X

เจ๋ง นศ.การอาชีพปะเหลียน ผลิตดินปลูกจากเปลือกกุ้ง มีรางวัลสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ การันตี

ตรัง- เจ๋ง..เด็กช่างรุ่นใหม่ไม่ได้เก่งเฉพาะวิชาช่างอุตสาหกรรม แต่สามารถประดิษฐ์คิดค้นโดยการนำปัญหา และวัตถุดิบในชุมชนมาคิด วิจัยต่อยอดจนได้นวัตกรรมใหม่ “ดินปลูกจากเปลือกกุ้ง” แก้ปัญหาขยะชุมชน และช่วยเหลือเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรที่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพลดการใช้ปุ๋ยเคมีประหยัดเงิน แก้ปัญหาขยะเน่าเสีย

ที่วิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง นายเฉลิมศักดิ์   ทองเนื้ออ่อน  ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน พร้อมด้วยนายวิชาญ เส้งซ้าย อาจารย์แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง  พร้อมด้วยนักศึกษาแผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง  นำผู้สื่อข่าวดูโรงเรือน และแปลงเกษตรผสมผสานตามโครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  “ น้อมนำ สืบสาน ปณิธานงานของพ่อ” ซึ่งเป็นแปลงเกษตรที่อาจารย์และน้องๆนักศึกษาร่วมกันทำขึ้นมา เพื่อใช้เวลาในช่วงที่อยากผ่อนคลายจากการเรียนวิชาชีพช่างในอาคารเรียนมาช่วยกันปลูกและเลี้ยงไว้ในกิจกรรมของชีววิถี ประกอบด้วย  การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์   การทำปุ๋ยอินทรีย์ ,ด้านปศุสัตว์เลี้ยง เป็ด ไก่ไข่ ,การประมงเลี้ยงปลาดุก  ด้วยบ่อปลาพลาสติกขนาดเล็ก และการทำเกษตรอินทรีย์  โดยอาจารย์มีแนวคิดว่า  นักศึกษาทุกคนมาจากบ้าน ซึ่งมีที่อยู่อาศัย มีที่ดินเป็นของตนเองมาเรียนรู้การทำเกษตรชีววิถี จบไปแล้วแม้จะทำงานช่าง หรือทำอะไร แต่ทุกคนสามารถวิชาความรู้ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติทั้งการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์การผลิตปุ๋ยด้วยตนเองไปใช้ได้ในชีวิตจริง เสริมจากงานอาชีพหลักในอนาคตได้

และล่าสุดสามารถวิจัยคิดค้นสูตรการทำดินปลูกจากเปลือกกุ้งจนประสบความสำเร็จ   โดยการนำเปลือกกุ้ง ซึ่งเป็นขยะที่มีจำนวนมากในพื้นที่ ทิ้งไว้ก็ส่งกลิ่นเหม็นเน่าเสีย เนื่องจากอำเภอปะเหลียนเป็นพื้นที่อยู่ติดทะเล มาศึกษา คิดค้นวิจัยสูตรจนประสบความสำเร็จ  โดยมีส่วนผสมที่สำคัญ ประกอบด้วย  เปลือกกุ้ง  มูลสัตว์   แกลบดำ ขุยมะพร้าว รำข้าว  หน้าดินคุณภาพ  หญ้าแห้งหรือกากเตยหอมที่มีคนปั่นเอาน้ำไปแล้ว หรือแต่กากใย     เอาทั้งหมดมาผสมกัน โดยใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ที่ได้จากการหมักสัตว์ทะเล ทั้งเศษกุ้ง หอย ปูปลา  ตัวทำให้ดินมีประสิทธิภาพ นำมาหมักเพื่อเป็นหัวเชื้อ นำไปเป็นส่วนผสมไปคลุกเคล้ากับส่วนผสมอื่นๆข้างต้น โดยใช้น้ำเปล่าส่วนหนึ่ง และน้ำจุลินทรีย์ส่วนหนึ่ง  นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน จะได้หัวเชื้อ จากนั้นนำหัวเชื้อไปเทกองใช้ภาชนะคลุมหมักไว้ 10 วัน เมื่อครบกำหนดจากนั้นคลุกเคล้ากับหน้าดินหมักต่ออีก 10 วัน รวมเป็น 20 วัน  หากไม่ครบดินจะร้อน  ทำให้ต้นไม้ตาย ต้องให้ครบ 20 วัน ดินจะเย็นและร่วนซุย จากนั้นนำมาบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 30 บาท  กลายเป็นผลิตภัณฑ์ฝีมือของอาจารย์และน้องๆนักศึกษาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง จนชนะการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่เป็นวิธีการกำจัดขยะที่ถูกวิธีและเกิดประโยชน์กลายเป็นทางเลือกให้แก่ชาวสวน ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาแพงมากในปัจจุบัน

นายเฉลิมศักดิ์   ทองเนื้ออ่อน  ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน  บอกว่า เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยเอาปัญหาและขยะจากชุมชนมาต่อยอดศึกษาวิจัย  ทำเป็นดินปลูกที่มีคุณภาพใช้แล้วทำให้ดินร่วนซุย  มีจุลินทรีย์พืชเจริญเติบโตงอกงามและให้ผลผลิตดี โดยมีการทดสอบในเชิงวิทยาศาสตร์ จนได้รับรางวัลในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ถือเป็นความสำเร็จของนักศึกษาและคุณครูที่ได้ช่วยกันต่อยอดจากปัญหาของชุมชน และจะนำกลับไปสู่ชุมชนต่อไป เป็นนวัตกรรมและผลผลิตของวิทยาลัย โดยที่นักศึกษาและอาจารย์เป็นช่างอุตสาหกรรมแผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง ไม่ได้เกี่ยวกับการเกษตรเลย แต่ว่าเอากระบวนการคิดในเชิงวิทยาศาสตร์มีการทดลองคิดค้นแล้วก็วิจัย เหล่านี้มาแก้ปัญหาในการใช้ชีวิตในสังคม ถือว่าเป็นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการดำรงค์ชีวิตประจำวัน  ทั้งนี้ ทางวิทยาลัยไม่ได้ทำในเชิงพาณิชย์ เพราะไม่มีเวลาแล้วก็ไม่มีเครื่องหมายเครื่องมือที่จะทำในเชิงพาณิชย์ได้  ในอนาคตอาจจะส่งมอบนวัตกรรมเหล่านี้ให้กับชุมชนไปต่อยอดในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป

ทางด้านนายวิชาญ เส้งซ้าย อาจารย์แผนกวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง  กล่าวว่า เกิดจากนักศึกษาทำอาชีพประมงซึ่งก็จะพบเห็นเปลือกกุ้งที่ชาวประมงร่อนแล้วก็ทิ้ง ไปวางกองกลางบ้าน แล้วก็มีกลิ่นเหม็น นักศึกษามาดูตนเองที่แปลงเกษตรนี้ก็เลยเห็นว่าที่บ้านมีเปลือกกุ้ง ซึ่งเปลือกกุ้งมีประโยชน์ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม น่าจะเอามาลองทำปุ๋ย จึงช่วยกันทำ  โดยนักศึกษารุ่นพี่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จนตอนนี้ก็ส่งต่อมายังรุ่นน้อง ซึ่งทำมากตอนเกิดสถานการณ์โควิด  และให้คนไปทดลองใช้ ปรากฏว่าได้ผลดี ต้นไม้เจริญงอกงาม โดยเฉพาะไม้กระถาง   จากนั้นจึงช่วยกันทำบรรจุถุงๆ ละ    5 กก. ขายถุงละ 30 บาท มีคนสั่งจำนวนมาก จนทำไม่ทัน ล่าสุด ส่งตัวอย่างดินไปตรวจพิสูจน์ที่ศูนย์พิกุลทองจังหวัดนราธิวาส  จึงรู้ว่าเป็นดินที่มีคุณภาพสูงมากจุดเด่นก็คือ   คุณภาพของเปลือกกุ้งกับน้ำหมักชีวภาพ  ขณะนี้มีออเดอร์ที่สั่งเข้ามาประมาณ 600 ถุง ยังไม่มีเวลาทำส่งให้ ทั้งนี้ ที่แปลงเกษตรของแผนก ยังมีการทำปุ๋ยอินทรีย์ด้วย ถุงละ 20   บาท ดินปลูกจากเปลือกกุ้ง 5 กก.ถุงละ 30 บาท และจำหน่ายเป็นหัวเชื้อดิน ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์บดผง บรรจุถุงละ 1 กก.ราคาถุงละ 20 บาท   นอกจากนั้น หากคนงานตัดแต่งกิ่งไม้ ใบหญ้า ก็ให้นำมากองรวมกันหมักไว้สัก 20 วัน ทำปุ๋ยแทนการเผา เพราะการเผาเป็นการสร้างคาร์บอน เพิ่มค่าฝุ่น PM และยิ่งหน้าแล้ง ลมแรง เสี่ยงต่อการไฟลุกลามไหม้สวน   ก็ใช้วิธีนำมากองรวมกันหมักทำปุ๋ย หากต้องการให้เร็วขึ้นก็เอาน้ำหมักจุลินทรีย์จากเศษอาหาร เศษพืชผัก ผลไม้ นำมาราดจะทำให้การย่อยสลายดีขึ้นจากนั้นเอาไว้ใช้ทำปุ๋ย และขายด้วย ในราคาถุงละ 20 บาท    ซึ่งเป็นวิธีจัดการกับขยะแบบง่ายๆ ไม่เสี่ยง ไม่รบกวนคนอื่น และปลอดภัย ที่สำคัญการกองหมักเอาไว้ทำปุ๋ยอินทรีย์จะมีประโยชน์ต่อพืชและให้ธาตุอาหารได้มากกว่าการเผาแล้วเอาขี้เถ้าที่ได้จาการเผาไปใช้  ซึ่งแตกต่างจากดินปลูกจากเปลือกกุ้งที่สำหรับเอาไปใช้เป็นดินปลูก

ด้านนายจิรันธนิน  ใจสมุทร ปวช.1 แผนกช่างไฟฟ้ากำลัง  บอกว่า  ตนเองเป็นชาว ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน ประชาชนมีอาชีพทำการเกษตร และทำประมง ทำให้มีเปลือกกุ้งเป็นขยะเกิดขึ้นในชุมชนเป็นจำนวนมากที่ถูกกองเอาไว้เป็นขยะ และตามต้นไม้ ซึ่งส่งกลิ่นเหม็น แต่ทำให้ต้นไม้งอกงามมาก แต่เมื่อมีการนำเปลือกกุ้งมาทำเป็นดินปลูกกลายเป็นดินที่คุณภาพ ต้นไม้เจริญเติบโตลดปัญหาขยะ และช่วยให้ชาวสวนมีดินที่มีคุณภาพใช้ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้

สำหรับใครสนใจสั่งซื้อผลงานติดต่อที่อาจารย์วิชาญ เส้งซ้าย  โทร. 087-410-8596   หรือทาง เฟซบุ๊ก : ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาวิทยาลัยการอาชีพปะเหลียน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน