ตรัง พุทธศาสนิกชนชาวเมืองตรัง ร่วมใจกันสืบทอดประเพณี “งานบุญให้ทานไฟ” เนื่องในวันมาฆบูชา ที่วัดควนนาแค ประเพณีที่ยังคงเหลือหนึ่งเดียวใน จ.ตรัง ท่ามกลางบรรยากาศสุดคึกคัก หลังหยุดกิจกรรมเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากโควิด 19
วันที่ 6 มีนาคม 2566 เวลา 03.30 น. ที่วัดควนนาแค หมู่ 5 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง พระครูประยุตอัครธรรม เจ้าอาวาสวัดควนนาแค พร้อมด้วย นายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายจักรพงษ์ รัชนีกุล นายอำเภอเมืองตรัง นายกิตติพงศ์ ผลประยูร ว่าที่ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐเขต 1 ตรัง รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ท้องที่ ท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านควน และพื้นที่ใกล้เคียง ต่างร่วมพิธี “งานบุญให้ทานไฟ” ประจำปี 2566 อย่างคับคั่ง โดยมีนายเอกพล ณ พัทลุง นายกอบต.บ้านควน กล่าวรายงาน
ซึ่งวัดควนนาแค สภาวัฒนธรรมประจำตำบลบ้านควน อบต.บ้านควน ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 23 แล้ว และยังคงเป็นวัดเดียวใน จ.ตรัง ที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเข้าวัดทำบุญ เนื่องในวันมาฆบูชา รวมทั้งสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชนโดยชาวบ้านต้องตื่นตั้งแต่เวลา 03.30 น. เพื่อนำอุปกรณ์วัตถุดิบการทำอาหารกันอย่างสดๆ ใหม่ๆ จำนวนกว่า 100 ร้าน เพื่อให้ได้อาหารคาวหวานที่ยังคงมีความร้อนถวายพระภิกษุ และสามเณร จำนวน 100 รูป โดยมีพระประสิทธิโสภณ เจ้าอาวาสวัดประสิทธิชัย รองเจ้าคณะจังหวัดตรัง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในการรับภัตตาหาร และแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนมพื้นบ้านประจำถิ่น หรือหากินยาก เช่น ขนมหม้อข้าวหม้อแกงลิง ขนมรู ขนมครก ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด ขนมกวนสาคู ขนมเทียน
นอกจากนั้น ยังมีน้ำชา กาแฟ เหนียวปิ้งหมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวเหนียวหลาม ขนมปังปิ้ง โดยเฉพาะขนมเบื้อง หรือขนมฝามี ซึ่งเป็นขนมโบราณอายุกว่า 100 ปี และเป็นตัวเอกของงานนี้ ที่ต้องนำถวายพระภิกษุสงฆ์ ตามความเชื่อเหมือนสมัยพุทธกาล ทั้งนี้ เมื่อพระภิกษุฉันเสร็จแล้ว ได้สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญ เป็นอันเสร็จพิธี ชาวบ้านจึงร่วมกันรับประทานกันอย่างสนุกสนาน
สำหรับการให้ทานไฟ เป็นการทำอาหารร้อนๆ ถวายพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นการทำบุญสมัยโบราณเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เกิดความอบอุ่นในตอนเช้ามืดของคืนที่มีอากาศหนาวเย็น จะได้ผิงไฟ และใช้ลานวัดเป็นที่ก่อกองไฟ แล้วทำขนมถวายพระ โดยประเพณีการให้ทานไฟ จะนิยมประกอบพิธีกันในเดือนอ้าย หรือเดือนยี่ หรือประมาณปลายเดือนธันวาคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงหรือฤดูที่อากาศหนาวเย็นในภาคใต้ (แต่เดิม) อีกทั้งประเพณีการให้ทานไฟ ยังเป็นกิจกรรมในวันมาฆบูชา ที่มีเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีเรื่องเล่าว่า ในเมืองราชคฤห์ มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ “โกสิยะ” มีทรัพย์สิน 80 โกฏิ แต่เป็นคนตระหนี่ ไม่ให้ทาน ไม่บริจาค ไม่อำนวยประโยชน์แก่ผู้ใดเลย แม้แต่ภรรยา และบุตรของตน
ต่อมา เศรษฐีต้องการกินขนมเบื้อง (ขนมกุมมาส) จึงให้ภรรยาไปแอบทำขนมบนปราสาท เพราะเกรงว่าผู้อื่นจะรู้เห็นแล้วจะมาขอแบ่งขนมกินด้วย ความนี้ได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงได้มอบหมายพระมหาโมคคัลลานเถระ อัครสาวกเบื้องซ้าย ไปโปรดโกสิยเศรษฐีผู้มีความตระหนี่คนนี้ เมื่อพระเถระรับพุทธบัญชาแล้วก็ไปแสดงอิทธิฤทธิ์ทรมานเศรษฐีด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเศรษฐีมีจิตเลื่อมใส ได้นำขนมเบื้อง และวัตถุทานอื่น ๆ มาถวายแก่พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุ 500 รูป ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ด้วยพุทธานุภาพขนมเบื้องที่เศรษฐีนำมาถวายภิกษุสงฆ์ มีเหลือมากมาย จนถึงกับนำไปเททิ้งที่ใกล้ซุ้มประตูวัดเชตวัน ปัจจุบันสถานที่เทขนมเบื้องทั้งนั้นเรียกว่า เงื้อมขนมเบื้อง ส่วนโกสิยเศรษฐี กลายเป็นเศรษฐีใจบุญชอบให้ทาน และได้บริจาคทรัพย์จำนวนมากเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยมูลเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของประเพณีการให้ทานไฟ ที่ปัจจุบันเหลือน้อยเต็มทีแล้ว
ด.ต.พิชัย จริงจิตร ชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่า โดยที่นี่จัดกิจกรรมมา 23 ปีแล้ว มีพระภิกษุสงฆ์ สามเณรจำนวน 100 รูป ชาวบ้านร้านค้า เข้าร่วมเกือบ 100 ร้านค้า ซึ่งชาวบ้านที่มาร่วมทุกคนจะได้อิ่มบุญ ทานฟรีและอิ่มท้องด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: