ตรัง เสมือนจริง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง ศรชล.ภาค3 จัดฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อเตรียมความพร้อมรับอุบัติภัยทางทะเลจังหวัดตรัง ใช้อากาศยานเฮลิคอปเตอร์ค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล
วันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ท่าเรือปากเมง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง จัดฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อเตรียมความพร้อมรับอุบัติภัยทางทะเลจังหวัดตรัง โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในฐานะผู้บัญชาการ การฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อเตรียมความพร้อมรับอุบัติภัยทางทะเลจังหวัดตรัง (การฝึกปฏิบัติ Drill) โดยได้มีการจำลองเหตุการณ์เสมือนจริง สาธิตช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย การใช้อากาศยานช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดย ศรชล.ภาค 3
จังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ชายหาดตลอดแนวชายฝั่งยาว 119 กิโลเมตร นับเนื่องจากอำเภอหาดสำราญ อำเภอปะเหลียน อำเภอย่านตาขาว อำเภอสิเกา และ อำเภอกันตัง เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่มีความสวยงาม มีบรรดาเกาะแก่งต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม มีความโดดเด่นด้านเอกลักษณ์ของประเพณีวัฒนธรรมตลอดจนวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีความได้เปรียบในเชิงแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลจังหวัดหนึ่งของภูมิภาค มีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจังหวัดตรังอย่างมหาศาล แต่เนื่องจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลกส่งผลให้สาธารณภัยที่เกิดขึ้นมีระดับความรุนแรงและความถี่ของการเกิดที่เพิ่มมากขึ้นทั่วทุกประเทศของโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย สำหรับบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลก็จะเกิดวาตภัย คลื่นลมแรงที่มีระดับความรุนแรงและความถี่ของการเกิดที่เพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี และพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดตรังก็เช่นเดียวกัน มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางทะเล อาทิ เรือชาวประมง หรือ เรือนำเที่ยวล่มในทะเล ซึ่งหากไม่มีการจัดการระบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและระบบการกู้ชีพกู้ภัยได้อย่างทันท่วงทีอาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ดังนั้นเพื่อเป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังต่อไป จึงมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการเผชิญเหตุทางทะเล เพื่อบูรณาการในการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อม ลดอันตรายในชีวิตและทรัพย์สินที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของแนวทางปฏิบัติการเผชิญเหตุ การบูรณการด้านการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ยานพาหนะในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ตลอดจนการประสานงาน ระบบการบัญชาการเหตุการณ์และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที ซึ่งในการจัดโครงการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อซักซ้อมบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานรับผิดชอบและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในการบริหารจัดการอุบัติภัยทางทะเล ผ่านกลไกของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ในระดับพื้นที่ และเพื่อทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัย ระบบสื่อสาร และระบบการส่งต่อผู้ประสบภัย ตลอดจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 150 คน
โดยได้จำลองเหตุการณ์มี เรือนำเที่ยว (แบบเช่าเหมาลำ) ท่องเที่ยวทะเลตรัง (แบบไปเช้าเย็นกลับ) ได้นำนักท่องเที่ยวออก เดินทางจากท่าเรือปากเมง มุ่งหน้าสู่เกาะมุกด์ ถ้ำมรกต เกาะกระดาน และเกาะเชือก โดยมีนักท่องเที่ยว กัปตันเรือและลูกเรือ รวม 20 คน ขณะอยู่ในทะเลได้เกิดฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนักมาก และลมกระโชกแรง ประกอบกับทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 3-4 เมตร และมีคลื่น ขนาดใหญ่ความสูงเกินกว่า 4 เมตร ได้ซัดเข้าหาเรือทำให้น้ำทะเลทะลักเข้ามาในเรือ จนกระทั่งเรือเอียง กัปตันเรือจึงโทรศัพท์แจ้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวท่าเรือปากเมง, สายด่วน 191, และสายด่วน 1669 เนื่องจากคาดว่าเรืออาจจะล่ม โดยมีนักท่องเที่ยว กัปตันเรือ และลูกเรือ รวม 20 คน สถานที่เกิดเหตุห่างจากท่าเรือปากเมงประมาณ 2.5 ไมล์ทะเล เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวฯ ได้ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมจากกัปตันเรือ แต่สัญญาณโทรศัพท์ ได้ขาดหายไปไม่สามารถติดต่อได้อีก ทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยวฯ ได้วิทยุขอความช่วยเหลือจากเรือประมงที่อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ และแจ้งนายก อบต.ไม้ฝาด (ผู้อำนวยการท้องถิ่น) เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้การช่วยเหลือ พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ พร้อมสั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน อบต.ไม้ฝาดขึ้น พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ให้อำเภอทราบ และหลังจากฝนได้หยุดตก และคลื่นลมในทะเลได้สงบลง เรือประมงพื้นบ้านที่อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุได้เข้าปฏิบัติการให้ความ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นจำนวนมาก และสามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้จำนวน 10 คน ซึ่งได้นำกลับขึ้นฝั่งโดยปลอดภัยแล้ว
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
ด้านนายก อบต.ไม้ฝาด พิจารณาเห็นว่าเกินศักยภาพของพื้นที่ จึงขอรับการช่วยเหลือจากอำเภอสิเกา และได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ และได้ประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าเกินศักยภาพของ อำเภอ จึงขอรับความช่วยเหลือจากจังหวัด ประสาน ศรชล.จ.ตรัง เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นกรณีเร่งด่วน พร้อมทั้งประสานตำรวจภูธรจังหวัดตรัง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวท่าเรือปากเมง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวย ความสะดวก ด้านการจราจร และทางศูนย์นเรนทร สั่งการเครือข่ายเข้าพื้นที่สนับสนุนจังหวัดเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล รพ.สิเกา เข้าพื้นที่เปิดจุดคัดกรองผู้ประสบภัย ณ ท่าเรือปากเมง เพื่อทำการรักษาพยาบาลและหรือส่งต่อผู้ป่วยต่อไป พร้อมทั้งรายงานศูนย์นเรนทรทราบ สถานการณ์ ด้าน สถานีตำรวจท่องเที่ยว กองกับการ 3 กองบังคับการท่องเที่ยว 3 ประจำจุดคัดกรอง เพื่อให้ความช่วยเหลือกรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และศรชล.จ.ตรัง ประสานหน่วยงานในพื้นที่ร่วมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เบื้องต้นสามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้จำนวน 19 ราย
โดยหน่วยงาน ดังนี้ 1.เรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 10 ราย 2.สถานีตำรวจน้ำ 2 กองกำกับการ 9 จำนวน 3 ราย 3.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง จำนวน 1 ราย 4.สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 จำนวน 3 ราย 5.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จำนวน 2 ราย และยังคงมีผู้สูญหายอีก จำนวน ๑ ราย
ทาง สนง.ปภ.จ.ตรัง แจ้งว่ายังไม่พบผู้สูญหาย เนื่องจากการปฏิบัติการค้นหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เห็นควรขอรับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์เข้าช่วยปฏิบัติการค้นหาอีก ช่องทางหนึ่ง ผวจ.ตรัง (ผู้อำนวยการจังหวัด) สั่งการให้ สนง.ปภ.จ.ตรัง ประสาน ศรชล.จ.ตรัง เพื่อขอรับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ จาก ศรชล.ภาค 3 เข้าทำการค้นหาผู้สูญหาย จำนวน 1 ราย ทางศรชล.ภาค 3 ได้ให้การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการค้นหาที่ผู้สูญหาย และได้ค้นพบผู้สูญหาย ซึ่งลอยคออยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทาง 1.2 ไมล์ทะเล จึงให้การช่วยเหลือและนำกลับขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย เสร็จภารกิจการให้ความช่วยเหลือ โดยสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล จำนวน 20 คน ได้อย่างปลอดภัย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: