X

เลือกตั้ง 66 : พรรคการเมือง โวย กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง ชพก.ถึงขั้นยื่นฟ้องศาลปกครอง

กรุงเทพฯ – เรียกเสียงจากพรรคการเมือง หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขต โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขต โดยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่้งกรุงเทพมหานคร มี ส.ส.มากสุด 33 เขตเลือกตั้ง ตามด้วย นครราชสีมา 16 เขต ขอนแก่นและอุบลราชธานี 11 เขต น้อยสุด 1 เขตเลือกตั้ง (มี ส.ส.ได้เพียง 1 คน) มี 4 จังหวัด คือ ตราด ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี

หลัง กกต.ออกประกาศ ก็มีเสียงวิพาย์วิจารณ์ออกมาจากบรรดาพรรคการเมืองทันที โดยเฉพาะพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง​ เพื่อขอเพิกถอนประกาศเขตเลือกตั้ง กทม. โดยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ระบุว่า พระราชบัญญัติ​ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 27(1) กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งเขตให้ ‘รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง’ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีอำเภอหลักอยู่ในเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าการแบ่งเขตที่ออกมา มีการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขต (อำเภอ) หลัก มาเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ เช่น เขตเลือกตั้งที่ 8 กทม. ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้องของเขตหลักสี่ และแขวงลาดยาว แขวงจตุจักร แขวงจอมพล ของเขตจตุจักร, เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย แขวงอนุสาวรีย์ของเขตบางเขน และแขวงจันทรเกษม แขวงเสนานิคม ของเขตจตุจักร และแขวงตลาดบางเขนของเขตหลักสี่ และยังมีเขตเลือกตั้งอื่น ๆ ที่เป็นการรวมเฉพาะแขวงโดยไม่มีเขตหลักถึง 13 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 8, 9, 12, 13, 17, 18, 19, 21, 26, 27, 28, 29 และ 30 ซึ่งเป็นการรวมแขวงต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ไม่ได้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง ขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 27(1)

“การรวมแขวงข้ามเขตแบบนี้ ถือเป็นการกระทบสิทธิประชาชน ทำให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะการแบ่งเขตใหม่ 33 เขตครั้งนี้ เหมือนกับการแบ่งเขตเลือกตั้งเดิมเพียง 4 เขตเลือกตั้งเท่านั้น” นายอรรถวิชช์ กล่าว

ด้าน เพื่อไทย โวย กกต. สุ่มเสี่ยงทำผิดกฎหมาย ถาม รับผิดชอบไหวหรือ
2 ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้ง ของ กกต.กทม. โดยนายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส. กทม.เขตหลักสี่ ระบุว่า การแบ่งเขตแบบที่ 1 และ 2 ยึดหลักตามตัวเลขประชากรที่ให้สมดุลกัน ส่วนแบบที่ 3 และ 4 ยึดหลักเขตปกครอง เมื่อดูที่มาตรา 27 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ ‘ให้รวมอำเภอต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง’ และให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชน ที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เป็นเรื่องหลักในการแบ่งเขต ไม่ใช่แบ่งเขตเลือกตั้งตามแขวง พิลึกพิลั่น ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายชัดเจน ถ้าศาลปกครองตัดสินมาภายหลัง ต้องมีผู้รับผิดชอบ
.
ด้านนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง ยอมรับว่า การที่ กกต.กทม.เลือกใช้การแบ่งเขตการเลือกตั้ง.แบบที่ 1 เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกังวลมาตลอด เป็นการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ส่อขัดกฎหมายเลือกตั้ง ท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะผู้อำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้ง เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือ ภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยพร้อมสู้ทุกกติกาที่ถูกกำหนดขึ้น จะไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม

‘จุรินทร์’ ประกาศ ปชป.พร้อมสู้ทุกกติกา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พรรคคงต้องปรับบางส่วนให้สอดคล้องกับเขตที่เปลี่ยนแปลงไป พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าพร้อมรับทุกกติกา ไม่มีปัญหา ถัดจากนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำไพมารีโหวต สำหรับตัวบุคคล ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมาย และตั้งเป้าหมายว่าจะส่งผู้สมัครให้ครบทั้ง 400 เขต และบัญชีรายชื่อครบทั้ง 100 คน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"