X

เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง หลังยุบสภา นายกฯ ประกาศเดินหน้าทำงานต่อ ขอให้ ปชช.เป็นผู้ตัดสิน

กรุงเทพฯ – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อารมณ์ดีเป็นพิเศษ หลังยุบสภา ขอเดินหน้าทำงานต่อในฐานะรัฐบาลรักษาการ ประชาชนเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินผลงาน 4 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่า ทำเต็มที่ และทำดีที่สุดแล้ว

วันที่ 20 มีนาคม 2566 ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงจะต้องปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงรัฐบาลชุดนี้ก็ต้องทำหน้าที่ต่อ ไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ามา

ในวันนี้ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเหมือนว่าจะผ่อนคลายและอารมณ์ดีเป็นพิเศษ ตอบคำถามสื่อมวลชนทุกคำถามด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ย้ำว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย พร้อมขอบคุณฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ช่วยกันทำงานมาตลอด 4 ปี แต่ปฏิเสธที่จะประเมินความพอใจกับผลงานที่ผ่านมา ซึ่งพี่น้องประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง

แต่ไม่ขอตอบว่า จะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า ในอนาคตจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคดังกล่าว ส่วนจะมีรายชื่อแคนดิเดตสำรองหรือไม่ ทางพรรคจะต้องหารือกันอีกครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ ยังยอมรับว่า มีหลายเรื่องยังไม่ได้ลงมือทำ แต่สิ่งที่ทำแล้วมีปัญหาติดขัดในเรื่องกฎหมาย ก่อนย้ำถึงการเดินหน้าทำงานในฐานะรัฐบาลรักษาการ แต่จะต้องแยกกันระหว่าง ฝ่ายบริหาร กับทางการเมือง นายกฯ จะต้องทำงานการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นนักการเมือง และในฐานะผู้บริหาร ก็ต้องเป็นคนตัดสินใจ อย่างการประชุมคณะรัฐมนตรี ก็ต้องตัดสินใจสิ่งที่ถูกต้อง และพิจารณาเห็นชอบร่วมกัน

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 169 กำหนดให้ ครม.ชุดเดิม ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ แต่ไม่ให้อนุมัติงานหรือโครงการ ผูกพัน ครม.ชุดต่อไป, ต้องไม่แต่งตั้งหรือโยกย้าย, ไม่เบิกจ่ายงบฯ ฉุกเฉิน-จำเป็น และไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคคลากรของรัฐ เว้นแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบให้ดำเนินการได้

ขณะเดียวกัน พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้วางไทม์ไลน์หาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้แล้ว สำหรับการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 400 เขตทั่วประเทศนั้น จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 มี.ค.นี้

รัฐบาลรักษาการ อะไรทำได้-ไม่ได้ และผลต่อกฎหมาย

ผลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ครม.พ้นจากตำแหน่ง แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ

ถ้ารัฐมนตรีลาออกจะไม่กระทบ ครม. ยังสามารถประชุมได้ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ ครม.ใหม่ถวายสัตย์ฯ

– ไม่อนุมัติงานหรือโครงการ หรือสร้างภาระผูกพันต่อ ครม.ใหม่ เว้นแต่เป็นเรื่องอยู่ในงบประมาณประจำปี

– ไม่แต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ พนักงาน หรือให้พ้นตำแหน่ง เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

– ไม่อนุมัติให้ใช้งบกลาง เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.

– ไม่จัดโครงการที่เป็นการเอาเปรียบ

– ไม่ประชุม ครม.สัญจร

– ไม่จัดประชุมโดยใช้งบของรัฐ เว้นแต่จัดตามวาระ

– ไม่โอนงบประมาณเพื่อแจกประชาชน

– ไม่ใช้ทรัพยากรหรือคนของรัฐ

ส่วนข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่ง ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ และจะพ้นตำแหน่งวันเดียวกับ ครม.

ผลต่อกฎหมายต่าง ๆ
จากการตรวจสอบพบว่า จนถึงวันนี้ มีร่างพระราชบัญญัติ (ร่าง พ.ร.บ.) ที่ค้างอยู่ในสภาฯ ถึง 29 ฉบับ ซึ่งมีอันต้องตกไป แต่หลังเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่สามารถขอให้ยกขึ้นมาพิจารณาต่อได้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมสภาฯ

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ที่ทูลเกล้าถวายฯ ไปแล้ว 11 ฉบับ ยังคงดำเนินการต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนั้น ถ้าจำเป็นเร่งด่วน อาจออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้

ส่วนการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) กฎกระทรวง ยังทำได้ตามปกติ

การหาเสียง ทำได้ แต่ต้องไม่แต่งเครื่องแบบ และไม่ใช้เวลาราชการ หรืองบราชการ การใช้สถานที่ราชการหาเสียง ให้ขออนุญาตตามระเบียบก่อน

ไทม์ไลน์ เลือกตั้ง
20 มี.ค.66 มีพระราษกฤษฎีกายุบสภา
กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน โดยจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน นับตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา

3-7 เม.ษ.66 เปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. (กรณียุบสภาต้องเป็นสมาชิกพรรคเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง)

กลางเดือน เม.ษ.66 วันสุดท้ายของประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง-สถานที่เลือกตั้ง และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

14 เม.ษ.66 ประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ทั้งระบบเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อ

30 เม.ษ. หรือ 7 พ.ค.66 วันเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง พร้อมแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

ต้นเดือน พ.ค.66
วันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง
วันสุดท้ายที่ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ยืนคำร้องต่อศาลฎีกา กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม
วันสุดท้าย ศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัคร กรณี ผอ.เลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร

7 พ.ค.66 หรือ 14 พ.ค.66 วันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

กิติ์ดนัย ไชยนุรัตน์

ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเว็บไซต์ 77 ข่าวเด็ด ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช แพลตฟอร์มชุมชนข่าวสาร 77 จังหวัด พบกับเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง กับข่าวท้องถิ่นทั่วประเทศ