กรุงเทพฯ – ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ผลตรวจร่างกายคนงานโรงถลุงเหล็ก ที่หลอมวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ไม่พบรังสีในร่างกาย แต่ยังให้ติดตามตรวจเลือดต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบระยะยาว พร้อมจัดทำแนวทางเฝ้าระวังผู้ป่วยทั่วประเทศ เล็งทบทวนกฎหมายปรับระบบดูแลสุขภาพให้รัดกุมขึ้น รับมือเหตุฉุกเฉิน
วันที่ 20 มีนาคม 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการตรวจสอบ การปนเปื้อนของวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี และไปพบถูกหลอมแล้ว ที่โรงถลุงเหล็กเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตรวจสอบบริเวณโรงถลุงเหล็กแล้ว ไม่พบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมถึงตรวจการปนเปื้อนรังสีในร่างกายของคนงานทั้ง 70 คน ไม่พบปริมาณรังสีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจ.ปราจีนบุรี จะติดตามอาการผิดปกติและตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพคนงาน รวมทั้งญาติผู้ใกล้ชิดในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า ความรุนแรงจากการได้รับรังสีซีเซียม-137 ขึ้นกับความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส โดยหากสัมผัสโดยตรงจะเกิดบาดแผลไหม้จากรังสี เช่น ผิวหนังมีตุ่มน้ำพอง เป็นแผล หรือเนื้อตายได้ เกิดอาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ
ส่วนผลระยะกลางและระยะยาว จะส่งผลต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเส้นผม เป็นต้น
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง คู่ซี้ พระ-ฆราวาส เมาแอ๋ด่าทอชาวบ้านใกล้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อาละวาดอ้างมีปืน ทำชาวบ้านแตกตื่น ตร.หิ้วปีกบังคับสึก กร่างไม่เลิกบอกรู้จักพระผู้ใหญ่
- ปิดตำนานนักเขียน "ตรี อภิรุม" ศิลปินแห่งชาติฯ เจ้าของผลงาน "นาคี"
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
- "เบิร์ด ธงไชย" ศิลปินแห่งชาติ ร่วมสืบสานนาฏศิลป์สยาม ชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ประสานผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยจากกัมมันตรังสี จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุก และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการ พร้อมทั้งประสานจัดสิ่งสนับสนุน เช่น เครื่องตรวจวัดรังสีเพิ่มเติม ชุดป้องกัน หน้ากากอนามัยชนิดกันอนุภาค รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานคลินิกเอกชนทั่วประเทศ ร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยอาจเกิดจากการได้รับรังสีด้วย
“แม้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นปลายทาง คือ ให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ แต่ได้ให้แต่ละกรมในสังกัด ใช้เหตุการณ์นี้ทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อนำมาปรับระบบดูแลสุขภาพให้รัดกุมยิ่งขึ้น และรับมือกับเหตุฉุกเฉินในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น” นพ.โอภาส กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: